กัมพูชา เฮ รัฐบาลไทยอนุมัติ คืนโบราณวัตถุ 20 รายการ จบมหากาพย์ตั้งแต่ปี 43

22 พ.ค. 2567 | 05:37 น.

เปิดมติครม.ล่าสุด อนุมัติให้กรมศิลปากร มอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา พบเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี 2543 ที่กรมศุลกากร ตรวจยึดจากการนำโดยผิดกฎหมายมาจากประเทศสิงคโปร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอให้กรมศิลปากรมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (รัฐบาลไทย) และกัมพูชา

รวมทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นภาคีที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงทวิภาคีอย่างเคร่งครัด

และครม.ยังอนุมัติให้ วธ. โดยกรมศิลปากรดำเนินการขนส่งโบราณวัตถุ จำนวน 20 รายการ คืนให้กัมพูชา โดยเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวจากเงินนอกงบประมาณ (เงินกองทุนโบราณคดี) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาในการต่อต้าน การเคลื่อนย้ายโดยผิดกฎหมายและการลักลอบขนข้ามแดนซึ่งสังหาริมทรัพย์ทางวัฒนธรรมและส่งคืนให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด (ความตกลงฯ) ข้อ 4 วรรคสอง

ที่กำหนดให้ค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเนื่องมาจากการส่งคืนและการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ทางวัฒนธรรม ให้เป็นภาระของภาคีที่ร้องขอ ซึ่ง วธ. เห็นว่า การยกเว้นในเรื่องภาระของค่าใช้จ่ายในการส่งคืนสังหาริมทรัพย์ทางวัฒนธรรมไม่กระทบต่อสาระสำคัญของความตกลงทวิภาคีดังกล่าว

และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการส่งคืนสังหาริมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ถูกเคลื่อนย้ายจากกัมพูชาโดยผิดกฎหมาย และถูกนำข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทย

และนอกจากนี้ครม.ก็มีมติมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อ 1.

สาระสำคัญเรื่องนี้

สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2543 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุเขมรที่นำเข้าโดย ผิดกฎหมายซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 43 รายการและต่อมากรมศิลปากรได้มีการตรวจสอบและมอบโบราณวัตถุคืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) ตามมติคณะรัฐมนตรี (24 กุมภาพันธ์ 2552 และ 13 มกราคม 2558) แล้ว จำนวน 23 รายการ คงเหลือโบราณวัตถุอีก 20 รายการ

ซึ่งกรมศิลปากรได้ตรวจสอบแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่สามารถพบได้ในโบราณสถานทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ 13 มกราคม 2558 ให้กรมศิลปากรแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ โดยหากรัฐบาลกัมพูชาประสงค์จะขอรับโบราณวัตถุดังกล่าวคืน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดส่งหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา

ในครั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งคำร้องเพื่อขอรับคืนโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ พร้อมทั้งส่งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมศิลปากร โดย “คณะกรรมการกำหนดเงินรางวัลสำหรับผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

รวมทั้งตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สิน และประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุ สิ่งเทียมศิลปวัตถุ”  (รองอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธาน) ยืนยันได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา

ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงขออนุมัติมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้กัมพูชา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ส่งคำร้องพร้อมทั้งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว และกรมศิลปากรได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา  ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงสามารถพิจารณาอนุมัติตามที่ วธ. เสนอได้
                 

รายละเอียดของโบราณวัตถุ 20 รายการ

 

ลำดับที่ 1 ส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18

ลำดับที่ 2 ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18

ลำดับที่ 3 ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18

ลำดับที่ 4 ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 18

ลำดับที่ 5 ส่วนองค์พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18

ลำดับที่ 6 ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17

ลำดับที่ 7 กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน – นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 8 กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16

ลำดับที่ 9 กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16

ลำดับที่ 10 กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17

ลำดับที่ 11 กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 12 กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 13 กลีบขนุนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย –  นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 14 กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16

ลำดับที่ 15 กลีบขนุนรูปพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16

ลำดับที่ 16 กลีบขนุนรูปพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16

ลำดับที่ 17 นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 18 นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 19 กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย –  นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ลำดับที่ 20 กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย –  นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17