ผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจะประชุมกันที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิลในระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน ซึ่งจะต้องตกลงกันที่จะจัดหาเงินทุนเพื่อประเทศยากจนต้องการเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับ "หายนะทางเศรษฐกิจ" สหประชาชาติได้เตือนไว้
กลุ่ม G20 กำลังจะประชุมหารือกันที่บราซิลเป็นเวลา 2 วัน ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนยังคงอยู่ในอาเซอร์ไบจาน ซึ่งการเจรจาที่สำคัญในการประชุมสุดยอดวิกฤตสภาพอากาศโลก COP29 ยังคงหยุดชะงัก
รัฐบาลของประเทศร่ำรวยยังไม่ได้เสนอความช่วยเหลือทางการเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า จำเป็นต่อการช่วยเหลือประเทศยากจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของสภาพอากาศเลวร้าย
สหประชาชาติ เรียกร้องให้ ผู้นำ G20 แก้ปัญหาที่ประเทศหรือกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง เนื่องจากวิกฤตสภาพอากาศโลกควรเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งในการประชุมของกลุ่ม G20
ผลกระทบจากสภาพอากาศได้ทำลายเศรษฐกิจของกลุ่ม G20 ทุกแห่งแล้ว ทำลายชีวิตผู้คน ทำลายห่วงโซ่อุปทานและราคาอาหาร และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น การดำเนินการด้านสภาพอากาศเป็นการปกป้องตนเองขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจกลุ่ม G20 ทุกแห่ง หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของกลุ่ม G20 จะไม่รอดพ้นจากการทำลายล้างทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสภาพอากาศ
นอกจากนี้ G20 ยังต้องหารือเกี่ยวกับการผ่อนปรนหนี้สินด้วย เนื่องจากประเทศยากจนจำนวนมากไม่สามารถใช้มาตรการเพื่อปกป้องตนเองจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ในขณะเดียวกันก็กำลังดิ้นรนกับต้นทุนการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว
มีผู้นำรัฐบาลเพียงไม่กี่คนจากประเทศสมาชิก G20 ที่เข้าร่วมการเจรจา COP29 เมื่อเริ่มต้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และหลายประเทศส่งรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปแทน
ประเทศยากจนต่างหวังว่าข้อตกลงทางการเงินระดับโลกจาก COP29 จะสูงถึง1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2573 ตามการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่าง Nicholas Stern, Vera Songwe และ Amar Bhattacharya
เนื่องจากพบว่าประเทศกำลังพัฒนา ยกเว้นจีน ต้องใช้เงินราว 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เงินส่วนใหญ่สามารถมาจากงบประมาณในประเทศได้
จากเงินทุนภายนอกที่จำเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ประมาณครึ่งหนึ่งควรมาจากภาคเอกชน ตามผลการวิจัย และประมาณหนึ่งในสี่ควรมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี เช่น ธนาคารโลก ส่วนที่เหลือควรมาจากการกุศล ความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่การเก็บภาษีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่มีคาร์บอนสูงเช่น การบินบ่อยๆ และรายได้จากการขายเครดิตคาร์บอน