นายฮันส์ สโตเตอร์ กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียของ Messe Stuttgart – ผู้จัดงาน didacta asia เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการหารือปรับปรุงนโยบายการศึกษาที่สนับสนุนความเท่าเทียม การส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องให้มีความรู้และทักษะที่ทันสมัยและสอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบัน
โดยดำเนินการภายใต้แนวคิด Lifelong Learning & Competency-based Learning คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการใช้กระบวนการที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ และเปลี่ยนความรู้เป็นประสบการณ์ มุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะ จุดแข็งของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน ใช้เวลาและวิธีการอย่างยืดหยุ่นตามธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการการศึกษา
ทั้งนี้ เป็นการการดำเนินการโดยมีผู้แทนระดับสูงจากองค์กรการศึกษาร่วมประชุมหารือการจัดงาน didacta asia congress กำหนดจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้แนวคิด Rethinking Education Transformation – คิดใหม่ ทำใหม่ สู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการศึกษา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานการศึกษาในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการจัดงานดังกล่าวอยู่ภายใต้ธีม didacta asia 2024 : Shaping the Future Skills คือการเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะให้เก่งขึ้น ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และความเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"didacta asia congress 2024" ยกระดับการศึกษาไทย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และความต้องการในอนาคตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายจอห์น อาร์โนลด์ ซิเอน่า รองผู้อำนวยการฝ่าย Programme and Development สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) กล่าวว่า didacta asia congress จะมีหัวข้อ การใช้นโยบายและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งจะมีผู้แทนจากหลายประเทศมาแบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคและถ้วนหน้า ผ่านนโยบายและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สอดคล้องกัน
และการอภิปรายในหัวข้อเทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเสมอภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมุมมองของผู้ปฏิบัติ โดยจะเจาะลึกถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความร่วมมือระหว่าง SEAMEO และพันธมิตรต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วยการใช้เทคโนโลยี
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึง 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก
ดังนั้นคนทำงานจำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะใหม่ๆเพื่อรองรับงานในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ โดยสอดคล้องกับโครงการหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นับเป็นแนวทางสำคัญที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดในการจัดการศึกษา สามารถออกแบบและจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาได้
ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานและการรับรองคุณวุฒิครู และพบว่าวิชาชีพครู ยังมีความจำเป็นต้องเรียนและพัฒนาเพิ่มเติมอีกมาก งาน didacta asia สามารถสนับสนุนการศึกษาของครูได้เป็นอย่างดี โดยขอให้เน้นแนวทางศึกษาแบบ Competency Base Learning และ Lifelong Learning เพื่อส่งเสริมให้ครู ได้เรียนรู้แบบต่อเนื่อง
และนำไปใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนาวิชาชีพครู และมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย
รศ.ดร.สุรพล บุญลือ นายกสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า didacta asia เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับทรัพยากรการศึกษาระดับโลก และเป็นประตูสู่ตลาดการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นไปที่การยกระดับการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและการศึกษาของโรงเรียน
ไปจนถึงการปรับทักษะวิชาชีพให้ตรงกับความต้องการ ของอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและสมาคมหลายแห่ง ซึ่ง didacta asia 2024 จะจัดวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ