นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ,ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ ผลักดันกฎหมายสู่การปฏิบัติ กับการลดอันตรายจากยาเสพติด
โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการลดอันตรายจากยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานด้านยาเสพติด
ทั้งนี้ ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลจึงกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วนในการบริหารราชการ โดยยึดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา
ผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เร่งรัดปราบปรามยาเสพติด และป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด โดยใช้การบูรณาการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ผ่านงานสัมมนาหัวข้อจากกฎหมายสู่การปฏิบัติ กับการลดอันตรายจากยาเสพติด
"ประมวลกฏหมายยาเสพติดมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการปรับมุมมองของสังคมในการให้โอกาสผู้เสพกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขภายหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและพฤติกรรมของผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาแนวทางและมาตรการในการบำบัดรักษาทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการให้บริการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด(Harm reduction)”
นายพรหมมินทร์ กิตติคุณประเสริฐ ผู้จัดการกลุ่มมอบความหวัง ผลของนโยบายกฎหมายยาเสพติด ต่อการทำงาน กระบวนการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ช่วยทำให้ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับข้อมูลของยาเสพติดอย่างรอบด้าน เกิดความเข้าใจ ได้รับการเตรียมความพร้อม จากอาสาสมัครภาคประชาสังคม จนมีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดยาเสพติดมากขึ้น อยู่ในระบบการบำบัดยาเสพติดได้ต่อเนื่องขึ้น จนมีผู้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“นโยบายกฎหมายยาเสพติด ที่มีการกำหนดรูปแบบการบำบัดยาเสพติด โดยแนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติดนั้น ทำให้แนวคิดผู้เสพ คือ ผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติที่เป็นจริงมากขึ้น การจับกุมผู้ใช้ยาที่ไม่มีของกลางยาเสพติดในตัว จะถูกส่งต่อเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล ซึ่งมีกระบวนการการคัดกรองว่า เป็นผู้เสพ ผู้ติด หรือผู้พึ่งพิง ประเมินอาการ ประเมินตัวยาที่ใช้ ประเมินสุขภาพ และใช้รูปแบบการบำบัด รักษา ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ยาแต่ละราย"