สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยฯ เปิด 2 สาเหตุเครนก่อสร้างล้ม

02 ก.ค. 2567 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 11:44 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยฯ เผย 2 สาเหตุ หลังเครนก่อสร้างล้ม ย่านอ่อนนุช 86 พบผู้เสียชีวิต 2 คน เตรียมเข้าพื้นที่ตรวจสอบพรุ่งนี้ หวังไข้อสรุปชัดเจน

ศ.ดร.อมร  พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างล้มวันนี้ ที่ซอยอ่อนนุช 86 จนมีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 5 คนนั้น

 

การล้มของเครนก่อสร้างดังกล่าว น่าจะเป็นการวิบัติแบบพลิกคว่ำ (overturning) ซึ่งสังเกตได้จากโครงเหล็กพร้อมฐานราก หลุดออกจากเสาเข็มแล้วล้มมาทับสำนักงานชั่วคราว จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว

 

สำหรับข้อสันนิษฐานสาเหตุที่เกิดการวิบัติดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้จาก


1. เหล็กที่ยึดระหว่างเสาเข็มและฐานรากมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมทั้งระยะฝังยึดเหล็กในฐานรากน้อยเกินไป
2. น้ำหนักที่ยก ทำให้เกิดโมเมนต์พลิกคว่ำ เกินกำลังต้านแรงดึงของเหล็กเดือยในเสาเข็ม
 

ซึ่งยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น จะต้องเข้าไปรวบรวมข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด จึงจะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้

 

ที่ผ่านเกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างถล่มหลายครั้ง ซึ่งมักเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการต่อความสูงหรือการติดตั้งเครน หรือเกิดจากการประกอบติดตั้งชิ้นส่วนเครนไม่ครบ

 

การวิบัติจึงเกิดขึ้นจากส่วนบนก่อน แต่ในกรณีนี้คาดว่าเครนล้มเกิดขึ้นในช่วงใช้งาน ซึ่งเกิดขึ้นจากส่วนฐานก่อน จึงเป็นสาเหตุที่แตกต่างออกไป

 

ทั้งนี้เครนดังกล่าว จัดว่าเป็นปั้นจั่นหอสูง (Tower crane) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของในการก่อสร้าง และก็ยังถือว่าเป็นโครงสร้างด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นโครงเหล็กถักตั้งอยู่บนฐานรากคอนกรีตที่รองรับด้วยเสาเข็มอีกที 
 

ดังนั้นการออกแบบฐานรากและการเชื่อมต่อระหว่างฐานรากและเสาเข็มจึงเป็นส่วนสำคัญในการต้านทานการล้มคว่ำของเครน 

 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า โดยกฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีทั้งวิศวกรเครื่องกล และ วิศวกรโยธา เข้ามาดูแลและกำกับการใช้งานเครน นับตั้งแต่การออกแบบ จนถึงการควบคุมการใช้งาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก


 
“ในวันพรุ่งนี้สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในช่วงสาย เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป”