สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สนับสนุนคณะผู้วิจัย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”
โดยการวิจัยพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดสตูล ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orophea chalermprakiat Damth., Chanthamrong & Chaowasku และคณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิดว่า “chalermprakiat” และตั้งชื่อไทยว่า “เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักวิชาการ สังกัดองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธานี ใจสมุทร สังกัดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหาญ และนายกิติศักดิ์ ฌานธำรง นักวิจัยอิสระ โดยการค้นพบครั้งสำคัญนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Phytotaxa เล่มที่ 658 ฉบับที่ 3 หน้าที่ 296-300 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้น “เฉลิมพระเกียรติ” มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร กลีบดอกมีสีครีม กลีบชั้นในประกบกัน ปลายกลีบแยกออก โคนกลีบคอดเรียว จึงเกิดช่องเปิดระหว่างกลีบ ทำให้เห็นเกสรเพศผู้และเพศเมียอย่างชัดเจน
พืชชนิดใหม่นี้พบขึ้นในหลุมยุบภายในถ้ำทะลุ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย
นอกจากนี้ “เฉลิมพระเกียรติ” ยังเป็นพืชหายาก พบเพียง 15-20 ต้น โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ พืชชนิดนี้สามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย และมีดอกรูปทรงสวยงาม นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นเฉลิมพระเกียรติ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นพืชสมุนไพรต่อไป
สำหรับคณะผู้วิจัยที่ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรจง ทองสร้าง อาจารย์ ดร.สุวรรณี พรหมศิริ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา