วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติ และ ความสำคัญ วันพระใหญ่

19 ก.ค. 2567 | 20:34 น.

วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติ และ ความสำคัญ ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 ก.ค. พิธีทางศาสนา และ กิจกรรมสำหรับในวันพระใหญ่

วันอาสาฬหบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา ประวัติ  "วันอาสาฬหบูชา" เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี หลังทรงตรัสรู้ได้ 2 เดือน 

ผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้ พระอัญญา โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบายใจความสำคัญของปฐมเทศนา ที่มีหลักธรรมสำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่

1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง

คือการปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยพระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่สุด 2 ด้านได้แก่

  • การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน หรือการดำเนินชีวิตแบบก่อความทุกข์ให้ตนเอง เหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด
  • การไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง

เพื่อละเว้นการดำเนินชีวิตที่สุดโต่งเหล่านี้ จึงต้องใช้หลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ประการ ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติ และ ความสำคัญ

 

 

2.อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ห่างไกลกิเลสได้แก่

1. ทุกข์ หรือความไม่สบายกายไม่สบายใจ

2. สมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์

3. นิโรธ หรือความดับทุกข์

4. มรรค หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

การถือปฏิบัติ"วันอาสาฬหบูชา"ในไทย

พิธีวันอาสาฬหบูชา 

เริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน

กิจกรรมใน"วันอาสาฬหบูชา"

แบ่งเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน โดยพระภิกษุสงฆ์เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ส่วนกิจกรรมของชาวพุทธ มีทั้ง ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า, การไปวัดรับศีล งดทำบาป, การถวายสังฆทานหรือให้ทาน, การฟังธรรมเทศนา และการเวียนเทียนรอบอุโบสถในช่วงเย็น.

ที่มา: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ