สตช.ชมเชยตำรวจส่งต่อหัวใจดวงที่ 100 แก่ผู้รับบริจาคได้ทันเวลาต่อชีวิต

27 ก.ค. 2567 | 09:18 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2567 | 09:45 น.

“พล.ต.ท.นิธิธร”ชมเชยตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริปฏิบัติหน้าที่แข่งกับเวลา ส่งต่อหัวใจดวงที่ 100 ให้แก่ผู้รับบริจาคได้สำเร็จทันเวลา อีก 8 นาที ครบ 4 ชั่วโมง เดตไลน์ในการต่อชีวิต

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ชมเชยตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร ในการวางแผนและการตัดสินใจในการนำส่งอวัยวะหัวใจดวงที่ 100 ให้แก่ผู้รับบริจาค ซึ่งประสบปัญหาสภาพการจราจรทางอากาศคับคั่ง ทำให้เครื่องบินดีเลย์

อีกทั้งสภาพการจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาค่ำของวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยอวัยวะหัวใจดังกล่าวนำส่งถึงทีมแพทย์ที่รอทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจ โรงพยาบาลศิริราช ได้อย่างทันเวลา 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 15.50 น. ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร ได้รับแจ้งว่า มีภารกิจนำส่งอวัยวะหัวใจดวงที่ 100 จากจังหวัดพิษณุโลก โดยเครื่องบินพาณิชย์โดยสาร มาลงยังสนามบินดอนเมือง เพื่อนำส่งไปให้กับผู้รอรับบริจาค ณ โรงพยาบาลศิริราช 

ทีมแพทย์แจ้งว่า หัวใจที่ได้รับการบริจาคดวงนี้ได้รับการผ่าตัดออกจากร่างของผู้บริจาคในเวลา 16.00 น. ซึ่งอวัยวะหัวใจหากทำการผ่าตัดออกมาจากร่างกายของผู้บริจาค แล้วจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง นับจากเวลาที่ปิดทางเดินเลือดในการผ่าตัดหัวใจของผู้บริจาค จนกระทั่งเปิดให้เลือดผ่านหัวใจใหม่ในร่างกายของผู้รับการปลูกถ่าย นั่นหมายความว่า อวัยวะหัวใจดวงนี้ต้องส่งถึงมือศัลยแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ในเวลาไม่เกิน 20.00 น.

พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (รอง ผบก.จร.) จึงได้นำกำลังตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริรุดไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อรอปฏิบัติภารกิจดังกล่าว โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช ที่รอรับอวัยวะหัวใจ ร่วมกันวางแผนการนำส่ง เพื่อให้ถึงทีมศัลยแพทย์ที่รอทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจในครั้งนี้ได้ทันในเวลา 20.00 น.

แต่เนื่องจากปัจจัยของสภาพการจราจรทางอากาศ ทำให้เที่ยวบินนี้เกิดความล่าช้า มาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในเวลา 19.22 น. ระยะทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ถึงโรงพยาบาลศิริราช 33 กิโลเมตร ด้วยสภาพการจราจรในเวลาดังกล่าว ต้องใช้เวลาประมาณ 50 นาที หากเดินทางด้วยรถพยาบาล 

พ.ต.ท.ทศพร กลีบแก้ว รอง ผกก.2 บก.จร. จึงได้เสนอว่าหากนำส่งด้วยรถจักรยานยนต์ จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที 

                            สตช.ชมเชยตำรวจส่งต่อหัวใจดวงที่ 100 แก่ผู้รับบริจาคได้ทันเวลาต่อชีวิต

จากนั้น พ.ต.อ.จิรกฤต เป็นผู้รับกล่องบรรจุอวัยวะหัวใจดวงนี้จากทีมแพทย์ ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ พ.ต.ต.พีรวุฒิ ใหม่อ่อง สว.งาน 2 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร (ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ) โดยมีตำรวจจราจรทางด่วนและตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ นำทางและอำนวยความสะดวกจราจร โดยทุกคันจำเป็นต้องขับขี่ด้วยความเร็วสูง ด้วยภารกิจนี้มีชีวิตเป็นเดิมพัน 

พร้อมประสานกับตำรวจจราจรท้องที่ในเส้นทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองถึงโรงพยาบาลศิริราช โดยใช้เวลา 18 นาทีถึงโรงพยาบาลศิริราช ในเวลา 19.50 น. วิ่งเต็มสปีดส่งต่อให้กับทีมศัลยแพทย์หัวใจในห้องผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อย ในเวลา 19.52 น. ทันเวลาแบบฉิวเฉียด

พล.ต.ท.นิธิธร กล่าวว่า การนำส่งอวัยวะหัวใจถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เนื่องจากผู้บริจาคอวัยวะหัวใจ และครอบครัวของผู้บริจาค ยอมมอบบริจาคหัวใจ เพื่อส่งต่อโอกาสและชีวิตใหม่ให้กับผู้รอรับบริจาค ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ผ่าตัดหัวใจของผู้บริจาค จนกระทั่งปลูกถ่ายให้ผู้รับ มีเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น จึงเป็นภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลา 

ที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมืออย่างเต็มที่จากประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ที่เปิดทางให้กับรถฉุกเฉินเมื่อได้ยินสัญญาณไซเรนท์ขอทาง โดยกรณีนำส่งอวัยวะหัวใจในครั้งนี้ นับเป็นรายที่ 100 แล้ว ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำส่งอวัยวะลุล่วงจนแพทย์สามารถปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจ ต่อชีวิตใหม่ให้กับผู้รับบริจาคได้

ล่าสุดได้รับรายงานว่า การผ่าตัดเสร็จสิ้นเรียบร้อยดีเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสังเกตอาการของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลศิริราช ทราบในเบื้องต้นว่า หัวใจของผู้บริจาคสามารถเข้ากันกับหัวใจของผู้รับบริจาคได้เป็นอย่างดี

                              สตช.ชมเชยตำรวจส่งต่อหัวใจดวงที่ 100 แก่ผู้รับบริจาคได้ทันเวลาต่อชีวิต

ทั้งนี้ พล.ต.ท.นิธิธร ได้ชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของทีมตำรวจจราจรทุกนายที่มีส่วนร่วมในภารกิจนี้ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ รวมถึงตำรวจจราจรทุกท้องที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในเส้นทางที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ มีทักษะคล่องแคล่ว สามารถให้ความช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของประชาชน

และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สมกับจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตอาสาบริการ มีมาตรฐานสากล ตามแนวทางการสร้าง “สุภาพบุรุษจราจร” เพื่อยกระดับการบริการประชาชน และสร้างความเชื่อถือศรัทธา