ฉลุย 16 หน่วยงาน สธ. ผ่านประเมิน ITA ปี 67 เพิ่มจาก 86 เป็น 89 คะแนน

07 ส.ค. 2567 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 07:16 น.

ปลัด สธ. เผย หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 16 หน่วยงานผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2567 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 86.06 เป็น 89.01 คะแนน ตั้งเป้าปี 2568 ทุกหน่วยงานผ่านเกณฑ์ครบ 100% 

7 สิงหาคม 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปีงบประมาณ 2567 มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 16 หน่วยงาน จากทั้งหมด 17 หน่วยงาน คิดเป็น 94.12% มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวม 89.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 86.06 คะแนน

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญและนำผลการประเมินฯ ที่ผ่านมา ไปพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานภารกิจของหน่วยงาน

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาตามเครื่องมือการประเมิน 3 เครื่องมือ ได้แก่ แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) และแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT) พบว่า ผลการประเมิน EIT มีค่าคะแนนน้อยที่สุด โดยค่าเฉลี่ยคะแนน EIT

ส่วนที่ 1 เท่ากับ 84.26 คะแนน ส่วนที่ 2 เท่ากับ 84.43 คะแนน ซึ่งแนวทางในการยกระดับค่าคะแนนกลุ่มนี้ต้องสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้แก่ประชาชน ผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการของหน่วยงานมากขึ้น และเผยแพร่การดำเนินการดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ

ในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัดผ่านเกณฑ์ ITA ครบทั้ง 17 หน่วยงาน โดยจะพัฒนายกระดับทั้งการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและการใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลที่สาธารณชนสามารถนำไปใช้ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ต่อไปได้ ภายใต้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมสุจริต ปลูกฝังวิธีคิด ปลูกจิตสำนึกให้บุคลากรมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต

ตลอดจนกำหนดมาตรการและสร้างการรับรู้การเสริมสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตให้แก่บุคลากรในหน่วยงานและสาธารณชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย "กระทรวงสาธารณสุข ปลอดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ" และบรรลุตามคำขวัญที่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต (Together Against Corruption : TAC) ต่อไป