เตือน 17 จังหวัดเฝ้าระวังดินถล่ม -น้ำป่าไหลหลากวันที่ 27-29 ส.ค.นี้

27 ส.ค. 2567 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2567 | 07:49 น.

กรมทรัพยากรธรณี เตือน 17 จังหวัดเหนือ-ใต้ เฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคมนี้ เช็คพิกัดพื้นที่เสี่ยงภัยที่นี่

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศแจ้งเตือน 17 จังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้ ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2567 โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มดังนี้

จังหวัดเชียงราย

  • เวียงแก่น เชียงแสน แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เทิง แม่ลาว 

จังหวัดน่าน 

  • เมือง บ่อเกลือ สองแคว ปัว ท่าวังผา เวียงสา เฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ทุ่งช้าง 

จังหวัดพะเยา

  • ปง ดอกคำใต้ เชียงคำ จุน

จังหวัดแพร่

  • สอง วังชิ้น ลอง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

  • เมือง ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย

จังหวัดอุตรดิตถ์ 

  • น้ำปาด ท่าปลา ฟากท่า บ้านโคก

จังหวัดระนอง

  • เมือง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ สุขสำราญ

จังหวัดพังงา

  • เมือง ตะกั่วป่า กะปง คุระบุรี ท้ายเหมือง

จังหวัดกระบี่

  • เมือง เขาพนม หน้าเขา เกาะลันตา

จังหวัดภูเก็ต

  • เมือง กระทู้ ถลาง

 

ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 100 มม. ประกอบกับมีฝนตกสะสมต่อเนื่องมาหลายวันทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำไว้มากและเริ่มมีน้ำหลากในหลายพื้นที่และอาจจะส่งผลให้เกิดดินถล่มได้
 

อนึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ศึกษาสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่ม โดยพบว่าพื้นที่ในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่มส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มระดับปานกลางถึงสูงมาก ครอบคลุม 1,984 ตำบลทั่วประเทศ ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดชันตั้งแต่ 20-60 องศา มีพืชปกคลุมดินน้อย และตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อ 24 ชั่วโมง 

 

นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การแผ้วถางเปิดหน้าดินเพื่อพัฒนาบนที่สูง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รวมถึงการทำเกษตรกรรมที่ปลูกพืชที่ไม่มีรากแก้วลึก เช่น ยางพาราและสวนผลไม้ ซึ่งไม่สามารถยึดเกาะดินได้ดีเมื่อดินขาดเสถียรภาพ
.
 

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ดังนี้


1. ภาคเหนือ: ครอบคลุมพื้นที่ 80,274 ตารางกิโลเมตร ใน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี 

  • ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำย่อยหลายสายมารวมกัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ด้วยสภาพทางธรณีวิทยาที่ผุพังของหินตะกอนในพื้นที่ที่มีความสูงชันใกล้กับแนวรอยเลื่อนส่งผลต่อเสถียรภาพของดิน การขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม  และอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุหมุนเขตร้อน 

 

2. ภาคใต้: ครอบคลุมพื้นที่ 22,859 ตารางกิโลเมตร ใน 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 

  • ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำ ส่งผลให้เกิดลักษณะดินถล่มชนิดเศษวัสดุธรณีไหล  (Debris flow) มีสภาพทางธรณีวิทยาที่ผุพังของหินอัคนี และหินตะกอน ในพื้นที่ที่มีความสูงชันใกล้กับแนวรอยเลื่อน การขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุหมุนเขตร้อน

 

3. ภาคตะวันออก: ครอบคลุมพื้นที่ 4,700 ตารางกิโลเมตร ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครนายก 

  • ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำจากเทือกเขาสูง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในบางพื้นที่ (Debris flow) การขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม และอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน

 

4. ภาคกลาง: ครอบคลุมพื้นที่ 15,991 ตารางกิโลเมตร ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี

  • ลักษณะลุ่มน้ำที่มีทางน้ำหลายสายมารวมกัน และการขยายตัวของชุมชน

 

5. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ครอบคลุมพื้นที่ 11,844 ตารางกิโลเมตร ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี 

  • ลักษณะลุ่มน้ำที่เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และการขยายตัวของชุมชน