ม.รามคำแหง เดือด มีคำสั่งไล่ออกอดีตผู้บริหาร ปมคัดลอกผลงาน

20 ก.ย. 2567 | 07:51 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 10:28 น.

มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกคำสั่งที่ 3093/2567 ไล่ออกจากราชการ "อดีตผู้บริหาร" กรณี ละเมิดจรรยาบรรณวิชาการอย่างร้ายแรง คัดลอกผลงานตัวเองซ้ำซ้อน 90% โดนเพิกถอนตำแหน่ง เรียกคืนสิทธิประโยชน์ และอาจถูกดำเนินคดีอาญา ส่งผลกระทบถึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและมาตรฐานหลักสูตร

แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกคำสั่งที่ 3093/2567 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ อดีตผู้บริหารรายหนึ่งที่มีพฤติการณ์ละเมิดจรรยาบรรณทางวิชาการอย่างร้ายแรงโดยการ คัดลอกผลงานตนเองแล้วนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการสองชิ้น แต่ละชิ้นมี การคัดลอกเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่มีผู้ร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งร้องเรียนว่าอดีตผู้บริหารสูงสุดรายนี้ได้ตีพิมพ์บทความภาษาไทยสองชิ้น ร่วมกับทีมอาจารย์อีกสี่คน เนื้อหาในบทความภาษาไทยทั้งสองชิ้นมีข้อความที่เหมือนกัน หรือคัดลอกกันเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีการอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

และผู้บริหารรายนี้ยังกล่าวอ้างการมีส่วนร่วมในการผลิตผลงานทั้งสองชิ้นขัดแย้งกัน โดย ชิ้นหนึ่งอ้างว่ามีส่วนร่วม 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกชิ้นหนึ่งมีส่วนร่วมศูนย์เปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ ที่ เนื้อหาหรือข้อความต่าง ๆ เป็นการคัดลอกกันหรือเหมือนกันเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วน อีกชิ้นหนึ่งเป็นบทความภาษาอังกฤษที่ประพันธ์ร่วมกับนักวิชาการอีกสองราย โดย บทความภาษาอังกฤษถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการสองฉบับ มีเนื้อหาที่ คัดลอกหรือเหมือนกันเกินกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีการอ้างอิงผลงานเดิมของตนแต่อย่างใดเช่นกัน

บทความภาษาอังกฤษนี้มีการนำไปเสนอในการประชุมทางวิชาการ ต่างประเทศ และถูกนำมาใช้เป็นผลงานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาเป็น คุณสมบัติการเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสำหรับหลักสูตรหนึ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ตามเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) แต่อย่างใด

 

พฤติการณ์ของผู้บริหารราย นี้ส่งผลเสียหายทางวิชาการอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบัน ทำให้หลักสูตร ของมหาวิทยาลัยเสี่ยงต่อการตกเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร อันอาจนำไปสู่การเพิกถอน หลักสูตรในท้ายที่สุด

ผู้บริหารรายนี้ได้เคยถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาแล้วด้วยฐานความผิดหลายข้อหาด้วยกันและต่อมาได้ถูกเลิกจ้างจากการเป็นพนักงาน มหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 หากแต่การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเลิกจ้าง ส่วนการดำเนินการทางวินัยเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับรายงาน การสอบข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการสอบสวน ทางวินัยจึงล่าช้า ส่งผลให้ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในการสอบสวนข้อเท็จจริง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือข้อกล่ ร้องเรียนหรือข้อกล่าวหา 2 ชุด คณะกรรมการทั้งสอง ชุดประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงจากภายนอก โดยได้มีการตรวจสอบประจักษ์ พยานหลักฐานต่าง ๆ อย่างละเอียด และได้สรุปว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล

ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงโดยเปิด โอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลอย่างเต็มที่เพื่อหักล้างข้อ กล่าวหา แต่ผู้บริหารรายนี้หาได้ให้ความร่วมมือแต่อย่างใดไม่ จนเมื่อคณะกรรมการได้ พิจารณาแล้วเห็นว่าได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกกล่าวหาอย่างเต็มที่และพอเพียงแล้ว

จึงได้สรุป ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยไล่ออกจากราชการนับแต่ วันที่ถูกเลิกจ้างจากกรณีที่นำวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาใช้ในการยื่นสมัครเป็นอาจารย์สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลิตผลงาน ทางวิชาการทั้งสองชิ้น มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบแล้วว่ามี พฤติการณ์ในการผลิตและเผยแพร่ผลงานดังกล่าวแตกต่างไปจากผู้บริหารรายนี้หรือไม่

แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังระบุด้วยว่า การลงโทษทางวินัยอย่าง ร้ายแรงดังกล่าวอาจส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องเพิกถอนตำแหน่งทางวิชาการของอดีต ผู้บริหารรายนี้ พร้อมทั้งการเรียกคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการดำรงตำแหน่งทาง วิชาการ และการดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดหลายกระทงด้วยกัน