สืบเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการลดลงของดอกเบี้ยทีเดียวค่อนข้างแรง เกินความคาดหมาย แทนที่จะลดลงคราวละ 0.25% ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การปรับลงของดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ ที่ส่งสัญญาณอ่อนลงมาก่อนหน้านี้ส่งผลให้ ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกมีมติปรับดอกเบี้ยลงตามเฟดของสหรัฐ
ขณะนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย หลายแห่งมองต่างมุมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
อาจมีแนวโน้ม ปรับลดดอกเบี้ยลงหรือไม่ก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้มองว่าหากเศรษฐกิจฝืดกำลังซื้อหาย และภาคเอกชนต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า
เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะเป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยให้กำลังซื้อของนักลงทุน เศรษฐีเงินเย็นขยับตัวได้ โดยเฉพาะปลายปีนี้ ซึ่งเป็นโค้งสุดท้าย ที่ต้องการเห็นตัวเลขผลประกอบการออกมาดีในหลายธุรกิจ
ขณะท่าทีของดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาย้ำว่าเฟดลดดอกเบี้ยลงแรง 0.5%ไม่ใช่เหตุผลที่ไทยต้องลดดอกเบี้ยตามทั้งนี้ต้องยึดปัจจัยในประเทศ เสถียรภาพทางการเงินเป็นหลักขณะเดียวกันธนาคารกลางต้องมีอิสระเชื่อถือได้
ที่สำคัญยังแนะนำในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยแก้ปัญหาการเงินภาคครัวเรือนและพร้อมกับจับตาค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างใกล้ชิดการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ใน 3 ปัจจัย กล่าวคือ
1. แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่
2.อัตราเงินเฟ้อ จะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่
และ3.เสถียรภาพด้านการเงิน
“ฐานเศรษฐกิจ”สอบถาม ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ว่า จากการฟังวิเคราะห์จากหลายคนบอกว่า การลดดอกเบี้ยลงของเฟดมีผลดีต่อไทย อาจเป็นปลายปีนี้ ต้นปี2568 หรือปลายปี2568 ซึ่งเป็นสัญญาหนึ่งที่ทำให้ ธปท. และกนง.พิจารณาลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นการลงทุน
อย่างไรก็ตามมองว่าในมุมอสังหาริมทรัพย์ จะเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยโค้งสุดท้ายของปีนี้ กระตุ้นกำลังซื้อที่เหลืออยู่อีก3เดือน ข้างหน้าได้ดี
เพราะที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยสูงนานเกินไป ส่งผลกระทบผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่า นักลงลงทุนชะลอการตัดสินใจ ขณะรายได้ ที่เพิ่มไม่มากจะทำให้ไม่สามารถกู้ได้ เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้าซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยปลดล็อกให้จูงใจซื้อได้ และจะไปเชื่อมโยงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ของรัฐบาลเศรษฐา ( 9 เม.ย.67)
เช่นมาตรการลดค่าโอน-จำนอง ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน7ล้านบาทและเมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลงด้วยจะกระตุ้นให้กลุ่มที่มีกำลังซื้อ นักลงทุนกล้าตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ตาม ดร.วิชัยเชื่อว่า ธปท.และกนง.จะยอมผ่อนปรนลดดอกเบี้ยนโยบายลงปลายปีนี้ ที่0.25% ทั้งนี้หากได้รับการผ่อนผันมาตรการLTV ด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยให้โค้งท้ายปีนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวขึ้น
มีคนประเมินทั้งสองฝั่ง สิ้นปีนี้ไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ย แต่หากมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจก็อาจจะลดลง แต่โดยส่วนตัวมองว่า ยังไงน่าจะเห็น25สตางค์ ภายในปีนี้ เพราะเงินเฟ้อลดลง และคิดว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยก็ลดเลย เพราะเข้าโค้งสุดท้าย ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี และ สถาบันการเงินลดต้นทุน หากลดดอกเบี้ยเพียงหนเดียวจะได้ เซนติเมนท์ คนมั่นใจอยากนำเงินออกมาซื้อถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเขาก็จะเก็บเงินต่อไป เพราะขณะนี้ตลาดหุ้นกลับมาดีแล้ว