รัฐบาลเร่งปราบ “การพนันออนไลน์” ชงตั้งคณะกรรมการระดับชาติ

01 ต.ค. 2567 | 23:01 น.

ครม.รับทราบข้อเสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เตรียม จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ดึงหน่วยงานนโยบายร่วมแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปราบ “การพนันออนไลน์”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับ "การพนันออนไลน์" ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ โดยเฉพาะการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์

 

ภาพประกอบข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับพนันออนไลน์ และเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

1. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมอบหมายรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานด้านเทคโนโลยี หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคลื่นความถี่ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และเสนอให้คณะกรรมการระดับชาติดังกล่าวพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น

2. กำหนดเป็นนโยบายว่าการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันออนไลน์ให้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน

3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงาน ปปง. จัดทำนโยบายยกระดับความสำคัญของปัญหาการพนันออนไลน์ และการประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นโทษของการพนันและไม่ฝักใฝ่ในการเล่นการพนัน รวมถึงกระทำความผิดเกี่ยวกับการรับเป็นบัญชีม้า การดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพนันออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น

4. กำชับให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด และจัดทำโครงสร้างใหม่ดำเนินการย้ายฐานข้อมูลการทำงานของระบบราชการเข้าไปอยู่ใน Cloud Computing เพื่อให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

ทั้งนี้ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

โดยหน่วยงานที่ต้องหารือร่วมกัน ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยครม.ขอให้ไปหารือจนได้ข้อยุติและมาเสนอครม.ต่อไป