แนะ 2 ช่องทางยื่นขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 -9,000 บาท

25 ก.ย. 2567 | 09:38 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 09:46 น.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะ 2 ช่องทางยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 -9,000 บาท เช็คเงื่อนไข หลักเกณฑ์ทั้งหมดที่นี่

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ด้วยการอนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเบื้องต้นในพื้นที่ 57 จังหวัด รวม 338,391 ครัวเรือน ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แนะช่องทางสำหรับการยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม โดยมี 2 ช่องทางดังนี้

 

  1. ยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสามารถติดต่อดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 
  2. ยื่นคำร้องด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th  โดยระบบจะเปิดให้ยื่นออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

 

ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม

 

สำหรับเอกสารหลักฐานที่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมต้องเตรียมเพื่อยื่นขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม มีดังนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน) 
  • สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) 
  • หากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น รวมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3  
     

หลักเกณฑ์การรับเงินช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม 

  • กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท 
  • กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท 
  • กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
     

หลักเกณฑ์การรับเงินช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม 

 

รายชื่อ 57 จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ประกอบไปด้วย

  • กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี 

กรณีที่ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมทำเอกสารบัตรประชาชนหรือเอกสารทะเบียนราษฎร์ต่างๆสูญหาย กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการช่วยเหลือ โดยขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ในพื้นที่ประสบสาธารณภัย ประชาชนที่ประสงค์ยื่นคำขอมีบัตรใหม่ ขอเปลี่ยนบัตร เช่น บัตรหมดอายุ บัตรหาย บัตรชำรุดในสาระสำคัญ สามารถยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ศาลาว่าการเมืองพัทยา และสำนักงานเทศบาลที่เปิดให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ได้ทุกแห่ง 

 

สำหรับการขอมีบัตรใหม่นั้น ผู้ที่เคยจัดทำบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบประวัติการทำบัตรประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าถูกต้องตรงกับเจ้าของรายการหรือไม่

 

เมื่อระบบแจ้งผลการตรวจสอบโดยไม่มีเหตุปฏิเสธการจัดทำบัตรของบุคคลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยไม่ต้องเรียกเอกสารหลักฐานอื่นใด 

 

แต่หากเป็นกรณีที่ระบบแจ้งผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าไม่ผ่านการเปรียบเทียบ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารหลักฐานหรือสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือแล้วแต่กรณีเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็น 

 

นอกจากนั้นแล้ว การขอคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร ในพื้นที่ประสบสาธารณภัย ให้สามารถติดต่อขอคัดรับรองรายการทางทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียนในเขตพื้นที่ ได้แก่ ทะเบียนคนเกิด, ทะเบียนคนตาย, รายการทะเบียนบ้าน,  สำเนาทะเบียนบ้าน, รายการข้อมูลทะเบียนประวัติ, ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน 
การขอคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร ในพื้นที่ประสบสาธารณภัย