"น้ำท่วมเชียงใหม่" หลายจุดโดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ที่ไหลเชี่ยวและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ซัดกระสอบทรายที่วางเป็นแนวกั้นจนพังลงและส่งผลทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความคืบหน้าของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก "คนล้านนา" วันที่ 5 ต.ค. 67 ระบุว่า หลายสิบปี ไม่เคยเจอ ถนนแก้วนวรัฐ น้ำปิงเอ่อท่วมทั้งสาย น้ำไล่มาเกือบถึงแยกศาลเด็กแล้ว เช้านี้อาเขตก็ไม่รอดท่วมแล้ว
ด่วน เช้านี้ 07.35 น. ย่านเคหะหนองหอย ทั้งโซนโดนน้ำท่วมหนักเกือบเต็มพื้นที่แล้ว
เอาไม่อยู่ รอบนี้หนองหอย ก็ไม่รอด 06.30 น. น้ำปิงทะลักท่วม เคหะฯ เอื้ออาทร เป็นทะเลแล้ว เลียบรางรถไฟ
น้ำปิงยังขึ้นไม่หยุด (06.00 น.) วิกฤติหนักขึ้นไปอีก ระดับน้ำจุด P1 ทุบสถิติใหม่ 5.27 เมตร! 7 โซนในเมือง จมบาดาล
รายงานข่าวแจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ที่ไหลเชี่ยวและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ซัดกระสอบทรายที่วางเป็นแนวกั้นจนพังลงและส่งผลทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ย่านตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรสอย่างรวดเร็ว
โดยที่น้ำจากจุดนี้ยังได้ไหลเข้าไปสมทบกับน้ำที่ท่วมอยู่แล้วบนถนนช้างคลานย่านไนท์บาซาร์ด้วย
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ เมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 4 ต.ค. 67 อยู่ที่ 5.20 เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับวิกฤต 4.20 เมตร และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เฟซบุ๊ก “คนล้านนา” วันที่ 4 ต.ค. 67 ได้โพสต์ภาพข้อความระบุว่า เชียงใหม่ ด่วน..น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ รพ.แมคคอร์มิค เกือบทั้งหมด ระดับน้ำสูงเกินครึ่งเมตรแล้ว เวลานี้ (20.55 น.) รถทุกชนิดสัญจรผ่านเข้าออกลำบาก
เฟซบุ๊ก คนล้านนา ยังได้โพสต์ระบุด้วยว่า เชียงใหม่ ในเมืองน่าห่วง น้ำขึ้นมาเรื่อยๆ แล้ว ถนนสี่แยก รร.ปรินส์ เวลานี้ (21.25 น.) ถูกน้ำปิงเอ่อทะลักเข้าท่วมสูงเกินระดับหัวเข่าแล้ว น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ สภ.เชียงดาว ยังแจ้งเหตุดินสไลด์ปิดการจราจร 2 ช่องทาง ในเวลา 20.40 น. รถไม่สามารถผ่านได้ทั้ง2 ช่องทาง บริเวณ ถนน107 ช่วงก่อนถึงด่านตรวจแก่งปันเต๊า (เชียงดาวมุ่งหน้าแม่แตง) อยู่ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไข โปรดวางแผนการเดินทาง และใช้ความระมัดระวัง
ศูนย์อุทกภัยวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนบน สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ระดับน้ำลุ่มน้ำปิงยังคงวิกฤตหนัก โดยสถานการณ์น้ำ แม่น้ำปิง วันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 17:00 น. อ.แม่แตง - อ.สันทราย - อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง
เว็บไซด์ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ แม่น้ำปิง
ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ แม่น้ำปิงล่าสุด คลิกที่นี่
ก่อนหน้านี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ออกประกาศ ฉบับที่ 20/2567 เรื่อง แจ้งเตือนระดับน้ำวิกฤติแม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุ
ด้วยในช่วงวันที่ 1-4 ตุลาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ มีอากาศแปรปรวน
แม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอิทธิพลจากลักษณะอากาศดังกล่าว ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วทั้งจังหวัดในเกณฑ์หนักถึงหนักมาก
ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนมีปริมาณพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น.
สถานี P.1 แม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.28 เมตร (สูงกว่า ระดับตลิ่ง 1.85 เมตร) และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคันป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ รองรับน้ำหลากระดับ +4.20 เมตร) ประมาณ 1.08 เมตร มีปริมาณน้ำ 652.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำทรงตัว
สถานี P.67 แม่น้ำปิงที่บ้านแม่แต อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ระดับน้ำ +5.60 เมตร (สูงกว่า ระดับตลิ่ง 1.80 เมตร) ปริมาณน้ำ 807.20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ผ่านจุดระดับน้ำสูงสุดที่ +5.98 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.18 เมตร) ปริมาณน้ำสูงสุด 860.40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณน้ำลดลง
สถานี P.21 (น้ำแม่ริม) ระดับน้ำ +4.61 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.81 เมตร) ปริมาณน้ำ 69.77 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านจุดระดับน้ำสูงสุดที่ +5.21 เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.41 เมตร) ปริมาณน้ำสูงสุด 82.67 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 20.00 น. อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ แนวโน้มปริมาณ น้ำลดลง
ฝายแม่แตง (น้ำแม่แตง) อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำผ่านฝาย 261.08 ลูกบาศก์ เมตรต่อวินาที โดยมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านฝาย 732.65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ฝายสินธุกิจปรีชา (ฝายแม่แฝก) แม่น้ำปิงที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำไหลผ่าน ฝาย 357.880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น]
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผ่าน จุดสูงสุดที่ระดับ +5.28 เมตร เมตร (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.58 เมตร) และสูงกว่าระดับวิกฤติ (ระดับหลังคัน ป้องกันน้ำท่วมเมืองของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่รองรับน้ำหลากระดับ +4.20 เมตร) ประมาณ 1.08 เมตร ปริมาณน้ำ 652 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา โดยจะมีระดับน้ำทรงตัวระยะหนึ่ง และเริ่มลดระดับลง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนยังมีการเคลื่อนตัวของมวลน้ำใหญ่ก้อนสุดท้ายจากแม่น้ำปิง ตอนบน (อำเภอเชียงดาว) ที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา (ปริมาณน้ำสูงสุด 459.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)
สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดหมายว่ามวลน้ำในแม่น้ำปิงจากอำเภอเชียงดาว จะไหลผ่านที่สถานี P.1 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 01.00-02.00 น.
โดยมวลน้ำดังกล่าวจะทำให้ ปริมาณน้ำที่สถานี P.1 อยู่ที่ระดับประมาณ +5.10 เมตร หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ และหลังจากนั้นระดับน้ำที่สถานี P.1 จะทรงตัวระยะหนึ่ง แล้วจะค่อยๆ ลดระดับลงจนอยู่ในสภาพการไหลปกติในทางน้ำภายใน 5 วัน
จากการคาดหมายสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงข้างต้น ขอแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบอุทกภัย จากน้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง ดังนี้
1. พื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวแม่น้ำปิง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด และในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง และอำเภอบ้านโฮ่ง
2. พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในพื้นที่เสี่ยงทุกโซน (โซนที่ 1-7) รวมถึงพื้นที่ตอนล่างที่มี บริเวณติดต่อกับพื้นที่โซนที่ 7 (พื้นที่ในเขตอำเภอสารภี ที่เคยเกิดอุทกภัยในช่วงวันที่ 26-28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและ เสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทา ผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำแนว เขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบ ล่วงหน้า
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ทราบ อย่างต่อเนื่อง