นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุของเรือโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมานั้น โดยเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำของพี่น้องประชาชน
ดังนั้นจึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า (จท.) กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของเรือโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ จท. ดำเนินการตรวจสอบเรือทุกลำ ทั้งเรือโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะ และเรือโดยสารทั่วไป ประกอบด้วย เรือโดยสารต่างๆ มีการให้บริการเดินเรือทั้งในลำแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา และให้บริการชายฝั่งทะเล เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล หรือเกาะต่างๆ
ขณะเดียวกัน พบว่า มีจำนวนเรือโดยสารรวมทั้งสิ้น 15,685 ลำ ซึ่งจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซลและเบนซิน และสามารถจำแนกออกได้เป็น เรือโดยสารประจำทาง 266 ลำ เรือโดยสารและภัตตาคาร จำนวน 108 ลำ
ส่วนเรือโดยสารประจำทางที่ให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น เรือโดยสารในคลองแสนแสบ จำนวน 60 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B20 เรือโดยสารในลำแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น เรือด่วนเจ้าพระยา จำนวน 40 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B 20 และเรือไฟฟ้า จำนวน 35 ลำ 2.3 เรือโดยสารภัตตาคาร จำนวน 52 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล
นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ จท. จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้างตัวเรือ, ตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบไฟฟ้า
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้จท.ตรวจสอบเครื่องยนต์ ระบบกลไกในการขับเคลื่อนเรือ, ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือ อาทิ พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้, ตรวจสอบระบบติดต่อสื่อสาร สัญญาณไฟเดินเรือ
ขณะที่การตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักร รวมถึงเข้มงวดการตรวจตราก่อนเรือออกเดินทางจากท่าเรือต่างๆ ไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด ตรวจสอบไม่ให้เรือบรรทุกผู้โดยสารบรรทุกสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ถังแก๊ส LPG หรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเข้มงวดกวดขันผู้ควบคุมเรือให้มีความพร้อมในการเดินเรือ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ พร้อมทั้งจัดประชุมประชาสัมพันธ์รณรงค์มาตรการความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำร่วมกับชมรม สมาคมต่างๆ และผู้ประกอบการเรือ
นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนของเรือโดยสารและภัตตาคาร ที่มีจำนวน 108 ลำ ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยถังแก๊ส LPG ที่ใช้ในการปรุงอาหาร ให้จัดวางแยกจากพื้นที่ที่บรรทุกผู้โดยสารและอยู่ในพื้นที่ดาดฟ้าเปิด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ และเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ส่วนบริเวณปรุงอาหารมีอุปกรณ์ดับเพลิง มีการติดตั้งวาล์วนิรภัย อีกทั้งยังต้องกำหนดจำนวนถังแก๊ส เพื่อปรุงอาหารให้เป็นไปตามขนาดเรือโดยสารและภัตตาคาร
อย่างไรก็ตามด้านผนังห้องครัวส่วนที่ปรุงอาหารต้องเป็นวัตถุโลหะ รวมถึงต้องมีการกำหนดหลักสูตรอบรมและประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือโดยสารและภัตตาคาร เช่น การดับไฟ การอพยพผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ