“พชร” ดึงไต้หวันลุยปราบแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ

08 ต.ค. 2567 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 09:04 น.

“พชร นริพทะพันธุ์” ที่ปรึกษาประธานกสทช. ลุยเจรจา กสทช.ไต้หวัน อย่างไม่เป็นทางการ หวังยกระดับความร่วมมือปราบแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนธุรกิจโทรคมนาคม และ Data Center แสนล้าน

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. และโฆษกประจำประธานกสทช. ได้เข้าพบคารวะนายเฉิน ชุง ฉู กรรมการคณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติของไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการ ในระหว่างการเดินทางในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมแนวทางการทูตไซเบอร์ ซึ่ง นายพชร ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ สำนักงาน กสทช. เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์และขบวนการคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ

นายพชร กล่าวว่า การเข้าพบกับนาย เฉิน ชุง ฉู ครั้งนี้ ได้แสดงความมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือในการทำงาน ของหน่วยงานกำกับดูแลสื่อสารและโทรคมนาคม และหารือเกี่ยวกับการประชุม GSMA M360 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการทำงานระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา

“พชร” ดึงไต้หวันลุยปราบแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ

ขณะที่ไต้หวันถือว่ามีประสบการณ์สูงและบทบาทสำคัญ เคยเตือนถึงปัญหาการก่ออาชญากรรมผ่านการใช้ซิมการ์ดจากฮ่องกง ซึ่งกองกำลังสืบสวนสอบสวนกลาง ก็ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดไป เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567

“การเข้าพบกสทช.ไต้หวันครั้งนี้ หารือถึงมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการปราบแก็งค์อาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการแนะนำให้ผู้ประกอบการตัดเครื่อง SIMBOX ที่ไม่ได้จดทะเบียนออกจากระบบ การตัดสัญญาณที่ให้บริการนอกราชอาณาจักร และการออกระเบียบและการเข้มงวดตรวจตรา การลงทะเบียนระบุตัวตนในซิมการ์ดเพื่อตัดวงจรซิมม้า และหารือการพัฒนา AI ขึ้น เพื่อช่วยแยกการใช้งานของผู้บริโภคและคนร้ายอย่าง เช่น แอพลิเคชัน Whosecall ที่ได้รับการพัฒนาในไต้หวันเป็นแห่งแรก”

นายพชร ยังกล่าวอีกว่า ได้หารือถึงอุปสรรคของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ในการใช้คลื่นความถี่และ เทคโนโลยี 5G ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ เพราะแนวโน้มการใช้การส่งสัญญาณด้วยความเร็วสูงนั้นน้อยกว่าที่คาดไว้

โดยเฉพาะแอพพลิเคชันใหม่ๆมีประสิทธิภาพขึ้น สวนทางกับความจำเป็นต้องใช้ความเร็วของโครงข่าย และได้หารือถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้บริการประชาชน เช่น การทำให้เกิด เมืองอัจฉริยะ หรือ IOT/Smart city และ บริการการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่จะเป็นตัวเร่งความต้องการความเร็วจากโครงข่าย 5G

อีกทั้งยังหารือถึงแนวทางการส่งเสริมพัฒนาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน หรือ MVNOs และ เมื่อร่วมกับการใช้ Killer APP ของ Big Tech แล้ว ความคุ้มทุนจะทำให้อัตราการใช้บริการลดลง และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

“บริษัทใหญ่ในไต้หวันให้ความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน เราพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และมีโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า น้ำ ระบบโลจิสติกส์ และสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงมีตลาดที่พร้อมรองรับการผลิตและอุตสาหกรรมดิจิทัลขั้นสูง ตามนโยบายของรัฐบาลและทีมประเทศไทย ที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้เห็นสัญญาณดีจากการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรและเดต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท” นายพชร ระบุ