เก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อใช้ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อไทยถามเห็นด้วยไหม

20 ต.ค. 2567 | 01:47 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2567 | 02:26 น.

เก็บค่าธรรมเนียมรถติด คันละ 50 บาท แก้ปัญหารถติดในพื้นที่สุขุมวิท รัชดาภิเษก และสีลม หวังรายได้ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อทุกคนได้ใช้ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พรรคเพื่อไทยถามเห็นด้วยหรือไม่ พร้อมเผยแนวคิดนี้มาจากประเทศไหน

ล่าสุดพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า เห็นด้วยหรือไม่? แนวคิด #เก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อทุกคนได้ใช้ #รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย

ภายหลังการประกาศเดินหน้านโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” อย่างจริงจังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งนโยบายดังกล่าวริ่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งสถานะความชัดเจนของนโยบายนี้ จากปากของรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ประกาศเดินหน้าแน่นอนทุกเส้นทาง 

พร้อมกำหนดการที่ชัดเจนภายใน “เดือนกันยายน 2568” เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทุกคนที่มาใช้บริการ และลดปัญหา PM 2.5 ของกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ในระยะยาว 

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจภายใต้นโยบายนี้ ก็คือ กระทรวงการคลัง ที่ได้เริ่มต้นศึกษาแนวคิดการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge)” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านสุขุมวิท รัชดาภิเษก และ สีลม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดหนักหน่วงในเมืองกรุง จูงใจให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้เป็นทางหลัก

ค่าธรรมเนียมรถติด

พื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการจราจรราว 7 แสนคันต่อวัน โดยแนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จ อาทิ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) สิงคโปร์ อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา

โดยรายได้จากการจัดเก็บนี้ จะนำมาร่วมอยู่ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะจัดเก็บในอัตราเพิ่มขึ้น อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 50 บาท คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ด้าน “ลวรณ แสงสนิทปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า “นี่เป็นแนวคิดเท่านั้น” และพร้อมหารือกับ กระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการหาแหล่งเงินทุนมาใช้ดำเนินนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีหลายแนวทางในการระดมทุน ซึ่งข้อเสนอที่จะเก็บค่าธรรมเนียมขับรถเข้าเมืองในช่วง 5 ปีแรก 40-50 บาทต่อครั้ง 

“นี่เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาเท่านั้น สถานะในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด” คือคำกล่าวย้ำของปลัดกระทรวงการคลัง 

หากจะอธิบายถึงหลักการนี้ ก็คงจะอธิบายได้ว่า หลักการนี้ คือจะไม่นำเงินภาษีจากคนทั้งประเทศมาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน เพราะโครงการนี้คนได้ประโยชน์จะเป็นคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นส่วนใหญ่ จึงควรให้คนในเขตเมืองดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย

ข้อดีนอกจากจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังทำให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลักมากยิ่งขึ้น 

อย่างที่ย้ำไปว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ และมีประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว และวันนี้เราจะมายกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่าง “ลอนดอน” สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ซึ่งได้แรงบันดาลมาจากเพื่อนบ้านเราอย่าง “สิงคโปร์” ที่ดำเนินนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 1975 จนประสบความสำเร็จ 

รายงานศึกษาจากศูนย์ศึกษาความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University Centre for Sustainability Studies) ศึกษา 12 เมืองของยุโรป พบว่านโยบายที่ได้ผลดีที่สุดการจราจรกลางเมืองคือการจัดตั้งโซนรถติดและเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่ด้วยรถยนต์เป็นกระบวนการที่ลดการใช้รถยนต์ได้ดีที่สุด

ลอนดอน พบว่าหลังจากใช้เขตรถติดและเริ่มเก็บค่าเข้าพื้นที่ (ปัจจุบัน 15 ปอนด์ หรือราว 660 บาท) พบว่าหลังจากเริ่มเก็บ ปริมาณการจราจรลดลง 33%

เมืองอื่นๆ เช่น มิลาน สตอคโฮม และโกเธนเบิร์ก(สวีเดน) พบว่าย่านจราจรหนาแน่นกลางเมืองลดลง 12-33% กลยุทธ์อื่นๆ เช่น ลดที่จอดรถ เปลี่ยนเป็นสวน และ ทางจักรยาน รวมถึงการห้ามเข้าพื้นที่เป็นช่วงเวลา ลดได้ราว 10-20%

ลอนดอน ได้รายได้จากค่าธรรมเนียมราว 200-300 ล้านปอนด์ต่อปี ทำมาตั้งแต่ปี 2003 มีรายได้สะสมกว่า 2 พันล้านปอนด์ในสิบปี ทางรัฐบาลท้องถิ่น ก็ได้ดำเนินนโยบายอำนวยความสะดวก ด้วยการจัดรถสาธารณะประจำทางถี่ขึ้น เพิ่มรถสายใหม่ และลอนดอน ก็เพิ่มสายรถใต้ดินด้วย 

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การจราจรหนาแน่นน้อยลง มลพิษทางอากาศลดลง (เช่นคาร์บอนไดออกไซด์ ลดถึง 20%) ความเร็วของการจราจรก็ลดลง รายงานอุบัติเหตุจากรถชนลดลงราว 1,000 กรณี และในเขตควบคุมจะลดการบาดเจ็บลงราว 40-70 รายต่อปีอีกด้วย 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า แนวคิดดังกล่าวนั้น เป็นแนวคิดที่มีการดำเนินการจริงและมีผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย หากแนวคิดนี้ตกผลึกแล้วสามารถทำได้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 

เพราะการเดินทาง คือสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน