สภาผู้บริโภคเตรียมเปิดเวทีใหญ่ ถกโอกาสซื้อคืนรถไฟฟ้า-ตั๋ว 20 บาท

18 ต.ค. 2567 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2567 | 06:47 น.

สภาผู้บริโภค เตรียมเปิดเวที ดึงผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกสายร่วมถก โอกาสรัฐซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ชี้ 20 บาทตลอดสายมีความเป็นไปได้ หลังผลการศึกษาพบค่าใช้จ่ายบริการเดินรถเฉลี่ย 10.30-16.10 บาทต่อคนต่อเที่ยว “สามารถ” แนะวิธีแจ้งเกิดจากค่าธรรมเนียมรถติด

เป็นประเด็นที่น่าติดตาม หลังคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน และช่วยลดมลพิษ ซึ่งแนวทางความเป็นไปได้จะมีการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาด 2-3 แสนล้านบาท

เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าที่ให้สัมปทานกับภาคเอกชน โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้คำมั่นว่า ในเดือนกันยายน 2568 รถไฟฟ้าทุกเส้นทางจะคิดค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้ทั้งหมด

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยสภาผู้บริโภคได้ทําข้อเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรื่องที่จะทําให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน ทําให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ทุกวัน

สารี อ๋องสมหวัง

ซึ่งการทํางานของสภาฯได้ศึกษาข้อมูลมาต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลจาก กทม. กระทรวงคมนาคม รวมถึงข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องบริการเดินรถเฉลี่ย 10.30 – 16.10 บาทต่อคนต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นทําให้มั่นใจมากขึ้นว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

“คิดว่าคุ้มมากกับการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยให้รถเมล์ รถสองแถวเป็นตัวฟีดเดอร์เข้าสู่ระบบราง ส่วนในเรื่องของการใช้ตั๋วร่วม เดิมที่คิดว่าจำเป็นต้องออกพ.ร.บ ตั๋วร่วม แต่ปัจจุบันพบรัฐมีทางเลือกอื่น เช่น พ.ร.บ.ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สามารถใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป”

อย่างไรก็ดีในปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ สภาฯ เตรียมจัดเวทีเสวนา โดยเชิญโอเปอเรเตอร์ทุกสายมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า หากรัฐบาลจะซื้อโครงสร้างคืนหรือแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อที่จะซื้อคืน แต่ละโอเปอเรเตอร์จะมีมุมมองอย่างไร ซึ่งอยากเห็นการทํางานแบบเปิดบนโต๊ะ เพื่อที่จะทําให้ไม่มีข้อครหา ใครที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร

“ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ปัญหาโลกร้อน หรือภัยพิบัติ ล้วนเกี่ยวข้องกันหมด เพราะฉะนั้นเราต้องปรับพฤติกรรมทุกอย่าง ผู้บริโภคเองก็ต้องปรับพฤติกรรม รัฐบาลก็ต้องลงทุนและไม่ใช่ลงทุนเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ในเมืองหลักก็ต้องเริ่มต้น ซึ่งสภาฯไม่เห็นด้วยกับการที่กระทรวงคมนาคม จะทําทางด่วน 2 ชั้น เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และการต้องใช้เงินลงทุนถึง 34,000 ล้านบาท หากนำไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะซื้อได้มากถึง 8,000 คัน สามารถให้บริการคนได้ทั่วประเทศ”

ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะจัดลําดับการใช้งบประมาณของประเทศ เพื่อที่จะทําให้เกิดบริการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนควรได้รับการลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านบริการขนส่งมวลชนต่อเดือนลง ซึ่งเป็นนโยบายของสภาผู้บริโภคในปีนี้ ที่จะทํางานในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

ด้านดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อทำให้ค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีข่าวว่ารัฐบาลจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนเมื่อต้นปี 2547 แล้วจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้นมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเพียงสายเดียว ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร (กม.) เท่านั้น คือ สายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้เนื่องจากรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หากไม่ให้เอกชนมาร่วมลงทุน ถึงเวลานี้จะมีรถไฟฟ้าน้อยกว่าปัจจุบันมาก รถไฟฟ้าหลายสายคงยังไม่เกิด การให้เอกชนมาร่วมลงทุนมีข้อดีคือ ทำให้สามารถขยายเส้นทางรถไฟฟ้าได้เร็ว แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้ค่าโดยสารแพง

ด้วยเหตุนี้การซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนกลับมาเป็นของรัฐจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่การซื้อคืนจะต้องใช้เงินจำนวนมาก วันนี้มีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 8 สาย ระยะทางรวม 274 กม. จะหาเงินมาจากไหน จึงเกิดแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติด ที่เรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)

โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เรียกมาตรการนี้ว่า Area Licensing Scheme (ALS) เริ่มเมื่อปี 2518 ในขณะนั้นสิงคโปร์ยังไม่มีรถไฟฟ้า แต่มีรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพให้บริการ ตอนเริ่มใหม่ ๆ มีคนคัดค้าน เพราะมาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้รถส่วนตัว แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และการเข้มงวดกวดขัน ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม

ที่ผ่านมาไทยเคยมีการศึกษาที่จะใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติ มาวันนี้จะศึกษาอีก จึงขอถือโอกาสนี้ฝากข้อห่วงใยเกี่ยวกับการใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดไปถึงรัฐบาล ดังนี้

ภายในพื้นที่ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะต้องมีรถไฟฟ้าให้บริการทั่วถึง พร้อมทั้งมีรถเมล์ที่ดีทำหน้าที่รับส่งผู้โดยสารจากรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะต้องมีที่จอดรถ เมื่อจอดรถแล้วผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าหรือรถเมล์ที่ดีได้ ในลักษณะจอดแล้วจร (Park and Ride) เพื่อเดินทางสู่จุดหมายปลายทางต่อไป ส่วนเรื่องที่ต้องสร้างความชัดเจนคือ จะมีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ที่อยู่อาศัย และผู้ทำการค้าภายในพื้นที่ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะหาทางป้องกันไม่ให้รถใช้เป็นเส้นทางหลบหลีกการชำระค่าธรรมเนียมได้อย่างไรนั้น มองว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่จะต้องพิจารณา เช่น วันและเวลาการเก็บค่าธรรมเนียม ประเภทรถ จำนวนผู้โดยสารในรถ รวมทั้งคนขับที่จะได้รับการยกเว้น วิธีการเก็บค่าธรรมเนียม และบทลงโทษ เป็นต้น