ชูโมเดล “มิไรกัง” ต้นแบบปั้นนักวิทย์รุ่นใหม่

25 ต.ค. 2567 | 22:26 น.

กสว. ชูต้นแบบ “มิไรกัง” จากประเทศญี่ปุ่น โมเดลสร้างคนฉลาดรู้ในไทยด้วยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หวังปั้นนักสื่อสารวิทย์ – คนเก่ง

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า มิไรกัง (Miraikan) หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งอนาคต เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเพื่อสร้างการรับรู้ถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกระตุ้นความคิดและการจินตนาการถึงโลกและการใช้ชีวิตในอนาคต 

ภายใต้การบริหารของ ดร. อะซากาวะ ชิเอโกะ ผู้อำนวยการท่านปัจจุบันซึ่งมีข้อจำกัดทางการมองเห็น โดยได้ริเริ่ม 5 initiatives ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ “มิไรกัง 2030” ที่มุ่งสร้างแพลตฟอร์มเพื่ออนาคต ได้แก่ Envisioning People's Future, Shaping the Future, Creating Together, Cultivating Future Creators และ Sustainability and Accessibility

ชูโมเดล “มิไรกัง” ต้นแบบปั้นนักวิทย์รุ่นใหม่

เพราะเล็งเห็นว่าเรื่องของการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงมุ่งสร้างนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communicators) ซึ่งตอนนี้ได้ผลิตนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มากว่า 180 คน นอกจากการผลิตกำลังคนที่ช่วยสื่อสารในเรื่องความสำคัญของวิทยาศาสตร์

มิไรกังยังมีการออกแบบนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนมองเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องใกล้ตัว ภายใต้ 4 ธีมหลัก ได้แก่ Life, Society, Earth, และ Frontier ซึ่งทั้ง 4 ธีมนี้จะเชื่อมมุมมองของการมองอนาคตที่ต้องพึ่งพาและเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  

ทั้งนี้ มิไรกังมีนิทรรศการถาวรแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. Explore the Frontier จัดแสดงประเด็นใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ที่ควรรู้ เช่น ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ การใช้ชีวิตในอวกาศ ประสาทวิทยา เซลล์ สิ่งแวดล้อม การรับมือภัยพิบัติ และการค้นพบสำคัญของวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น

ชูโมเดล “มิไรกัง” ต้นแบบปั้นนักวิทย์รุ่นใหม่

2. Create Your Future จัดแสดงประเด็นที่สำคัญที่จะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในอนาคต เช่น อินเตอร์เน็ต ดิจิทัล หุ่นยนต์ สังคมสูงวัย และยังมีนิทรรศการที่เชิญชวนผู้เข้าชมให้ร่วมตอบคำถามเกี่ยวกับอนาคตจากผู้รับรางวัลโนเบลสาขาต่าง ๆ กว่า 28 ท่าน

3. Discover Your Earth จัดแสดงข้อมูลภูมิศาสตร์บนจอแสดงผลลูกโลกขนาดใหญ่ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์เพื่อเรียกดูข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ ของโลก ณ ปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ความน่าสนใจของมิไรกังอีกมิติคือการมี Research Lab ในตัวพิพิธภัณฑ์เอง  โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยสามารถมาร่วมทำงานที่ห้องปฏิบัติการที่มิไรกังได้

จุดเด่นที่มิไรกังใช้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักวิจัยภายนอกมาร่วมงานด้วยคือการที่มิไรกังมีการวิจัยสำรวจข้อมูลจากผู้เข้าเยี่ยมชมทั้งมิติของการตอบสนองทางสังคม จริยธรรม  ซึ่งเรียกว่าเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพราะในแต่ละปีทางมิไรกังจะมีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมปีละเกือบ 8 แสนคน

นอกจากนี้ มิไรกังยังมีนิทรรศการหมุนเวียน รวมถึงการฉายวีดีทัศน์ผ่านจอทรงโดมในประเด็นที่หลากหลาย ตั้งแต่ศิลปกรรมถึงอภิปรัชญา เช่น การพัฒนาเทคนิคการสร้างงานอนิเมชันในต่างประเทศ และการตามหาทฤษฎีทางฟิสิกส์หนึ่งเดียวที่จะอธิบายทุกอย่าง เป็นต้น  การออกแบบนิทรรศการและธีมต่างๆ นั้น ทางมิไรกังจะมีการวางแผนเพื่อให้กิจกรรมต่างๆ ออกมาสอดคล้องกับแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศฉบับที่ 6”

ชูโมเดล “มิไรกัง” ต้นแบบปั้นนักวิทย์รุ่นใหม่

ทั้งนี้คณะ กสว. และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (สกสว.) ได้เข้าเยี่ยมชมมิไรกัง หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งอนาคต (National Museum of Emerging Science and Innovation) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายโยอิชิ อิโตะ กรรมการบริหารของมิไรกัง และคณะให้การต้อนรับ ซึ่งกสว. มีแนวคิดในการนำ “มิไรกัง” จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างนักสื่อสารวิทย์ – คนเก่ง พร้อมกระตุ้นคนในชาติที่สนใจวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่ราว 1 ล้านคนต่อปีด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก Facebook : Miraikan