"ศูนย์นครธน" ผุดนวัตกรรมเลี้ยงตัวอ่อนด้วย "AI" เพิ่มโอกาสผู้มีบุตรยาก

15 ต.ค. 2567 | 08:06 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 08:06 น.

"ศูนย์นครธน" ผุดนวัตกรรมเลี้ยงตัวอ่อนด้วย "AI" เพิ่มโอกาสผู้มีบุตรยาก ชี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้ต่อเนื่อง ด้วยการใช้กล้องและระบบติดตามผล

นายพงษ์เพชร เบญจพลวัฒนา นักวิทยาศาสตร์ ประจำศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับการเลี้ยงตัวอ่อนด้วยปัญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้สูงขึ้น  

ทั้งนี้ ปัจจุบันนวัตกรรมในการเลี้ยงตัวอ่อนได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนนี้มีฟังก์ชันที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้กล้องและระบบ AI ในการติดตามผล ประกอบด้วย  

  • การติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนด้วย Time-Lapse Monitoring เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าทึ่ง ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถดูพัฒนาการของตัวอ่อนได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงบันทึกภาพการเจริญเติบโตในทุกช่วงเวลา ทำให้แพทย์สามารถเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำจานเพาะตัวอ่อนออกจากเครื่องเลี้ยง เพราะทุกครั้งที่มีการนำตัวอ่อนออกมาจากเครื่องเลี้ยงที่ถูกควบคุมสภาพแวดล้อมไว้อย่างเคร่งครัด จะทำให้ตัวอ่อนต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกทำลายหรือหยุดพัฒนา Time-Lapse Monitoring จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ 
     
  • การควบคุมสภาวะแวดล้อมด้วย EmbryoScope Plus ทำให้เครื่องเลี้ยงตัวอ่อนในปัจจุบันมีระบบที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และออกซิเจน (O2) ได้อย่างแม่นยำ เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมให้คล้ายกับอยู่ภายในมดลูกที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนพัฒนาได้ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด 

"ศูนย์นครธน" ผุดนวัตกรรมเลี้ยงตัวอ่อนด้วย "AI" เพิ่มโอกาสผู้มีบุตรยาก

  • มีการใช้ AI ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในเครื่องที่สามารถวิเคราะห์พัฒนาการของตัวอ่อนโดยอัตโนมัติ จาก Time-Lapse Monitoring และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระยะเวลาและขั้นตอนการพัฒนาตัวอ่อน ซึ่งจะให้คะแนนตัวอ่อนแต่ละตัวตามพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จในการฝังตัวและตั้งครรภ์สูงสุดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ยังสามารถนำเซลล์ของตัวอ่อนไปตรวจโครโมโซมก่อนใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก

สำหรับการพัฒนาของเครื่องเลี้ยงตัวอ่อน สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ได้จำนวนตัวอ่อนที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่มากขึ้น และตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีสำหรับผู้รับบริการในกระบวนการทำ ICSI ซึ่งคือ โอกาสความสำเร็จที่สูงขึ้น 
 

นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์ สูตินรีเเพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อาจทำได้หลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยม คือ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) ซึ่งคือ การปฏิสนธิของเซลล์ไข่ภายนอกร่างกายเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ ด้วยการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรงเพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ จากนั้นตัวอ่อนจะต้องถูกเลี้ยงภายนอกร่างกาย 

โดยอยู่ในห้องปฏิบัติการก่อนที่จะถูกฝังเข้าสู่โพรงมดลูก ขั้นตอนในการเลี้ยงตัวอ่อนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการพัฒนาของตัวอ่อนในช่วงแรกต้องถูกควบคุมให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เนื่องจากตัวอ่อนมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิ และแสง ซึ่งเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนทำหน้าที่จำลองสภาพแวดล้อมให้เสมือนมดลูก โดยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้ตัวอ่อนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ 

จากนั้นจะคัดตัวอ่อนที่แข็งแรงเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก และหลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน การทำ ICSI ถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากให้สามารถมีบุตรได้