กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างระบบการศึกษาแบบครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เสมอภาค สำหรับเยาวชน และประชากรวัยแรงงาน
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีความท้าทายด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเกือบ 80 ล้านคนอยู่ในภาวะยากจนพิเศษ 66% ประกอบอาชีพนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ) 22% ของเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา
การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม และยังมีหลายล้านคนที่ยังคงเป็นแรงงานเด็ก การเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก ด้านเทคโนโลยี ด้านประชากร และด้านสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training: TVET) ซึ่งเป็นทางเลือกการศึกษาที่ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในฐานะเส้นทางที่มีศักยภาพสูงในการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นางสาวอ้อมแก้ว เวชยชัย หัวหน้าฝ่ายพัฒนาตลาดเอเชีย องค์กร Global Steering Group for Impact (GSG Impact) หนึ่งในวิทยากรหัวข้อ “นวัตกรรมการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับอนาคต” กล่าวว่า ความร่วมมือข้ามภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเงินและการลงทุนในภาคการศึกษา และเน้นถึงความจำเป็นในการให้ส่งต่อข้อมูลแก่สาธารณชนและนักลงทุนเกี่ยวกับบทบาทของการเงินนวัตกรรมในระบบการศึกษา
ซึ่งจะทำให้เห็นถึงคุณค่าของการลงทุนต่อสังคม มากกว่านั้นความสำคัญในการเปิดรับผู้เล่นใหม่ในตลาดและเชิญชวนองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาร่วมลงทุน โมเดลการเงินนวัตกรรมจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตของโครงการด้านการศึกษา
ด้านนางสาวแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส มูลนิธิเคเอฟซี เสริมว่า ทางออกการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน และทักษะที่สามารถใช้ในชีวิตจริงหลังสำเร็จการศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยได้สรุปว่า "ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผลประโยชน์เชิงบวกที่ยั่งยืนในระบบการศึกษา
ขณะที่การกระจายอำนาจในการศึกษาเป็นหนึ่งในความสำคัญสู่การสร้างความเสมอภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา
เช่น มูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านเทคนิคให้แก่เยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมในอาชีพ และสนับสนุนทักษะพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้หญิงกว่า 7,000 คนในภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา อีกทั้งยังนำการฝึกอบรมเข้าสู่ชุมชนในป่าอเมซอนในบราซิล อาร์เจนตินา และเปรู สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของเอกชนในการเพิ่มโอกาสและทักษะการเรียนรู้ในชุมชนห่างไกล
ในประเทศไทย โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดระยองเป็นอีกตัวอย่างของการกระจายอำนาจผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยปรับให้เข้ากับความต้องการท้องถิ่น เสริมสร้างความครอบคลุมทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน
ขณะที่ “ระบบติดตามและการประกันคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ และการพัฒนาการประเมินผลที่มุ่งพัฒนาผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน” พบว่า การประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือ กุญแจสำคัญสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การประเมินทักษะในระดับนานาชาติ เช่น PISA ช่วยให้เห็นถึงทักษะสำคัญต่อแรงงาน ทั้งด้านการอ่าน ความรู้ดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบในระดับสากล
ในประเทศไทย รายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 จัดทำโดยธนาคารโลก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่ายในประเทศไทย ได้ทำการประเมินในกลุ่มตัวอย่าง 7,300 คน อายุระหว่าง 15–64 ปี ผลลัพธ์เผยให้เห็นช่องว่างสำคัญ
โดยพบว่า 74.5% ขาดทักษะดิจิทัล และกว่า 60% ขาดทักษะการรู้หนังสือ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนในด้านนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์และการประกันคุณภาพการศึกษา
การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การประเมินภายนอกและการปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์สำหรับผู้เรียนทุกคน
อย่างไรก็ดีการที่เทคโนโลยีและ AI เข้าถึงได้มากขึ้น วิสัยทัศน์ระดับโลกของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความเสมอภาคทางการศึกษากำลังเข้าใกล้ความเป็นจริง แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI เช่น ศูนย์ AI เพื่อเทคโนโลยีการศึกษา (AICET) ของสิงคโปร์ ได้พัฒนาการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ข้อเสนอแนะที่ปรับได้
และประสิทธิภาพในการประเมินผล ซึ่งเข้าถึงผู้เรียนกว่า 1.2 ล้านคนตั้งแต่ปี 2565 ในภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่เอเชียถึงสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม AI ก่อให้เกิดความท้าทายเช่นกัน รวมถึงความเสี่ยงด้านความไม่แม่นยำ ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูล
แพลตฟอร์มที่มุ่งเน้น AI ของ IBM ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในด้านการศึกษา โดยให้บริการหลักสูตร AI ฟรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งเสริม โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรมคนสองล้านคนในด้าน AI ภายในปี 2569
รายงานอนาคตของงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เน้นถึงความต้องการทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะด้านอารมณ์และเทคโนโลยี การจัดหาโอกาสการเรียนรู้ที่ปรับตามผู้เรียนและเข้าถึงได้ง่ายทำให้ AI และเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสรรค์การศึกษาใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนทุกวัยพร้อมรับความสำเร็จในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
สรุปสาระสำคัญของการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 มีดังนี้
1. การเข้าถึงการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องมอบโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความท้าทายใด ๆ
2. หลักสูตรการศึกษาควรสอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริงและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต
3. เพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพครู เครื่องมือ และทรัพยากร
4. การกระจายอำนาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5. รัฐบาลควรเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงช่องว่างของนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6. การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2573