"กองทุนพัฒนาสื่อฯ" ยกระดับผู้สูงวัยรู้เทันภัยออนไลน์-ผลิตสื่อสร้างสรรค์

06 พ.ย. 2567 | 15:42 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 15:42 น.

"กองทุนพัฒนาสื่อฯ" ยกระดับผู้สูงวัยรู้เทันภัยออนไลน์-ผลิตสื่อสร้างสรรค์ มุ่งให้ผู้สูงอายุพัฒนาศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย 

นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้สูงวัย และคนส่วนใหญ่นิยมสื่อสารกันผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น 

แต่การสื่อสารที่เปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดดมาพร้อมกับภัยแฝงในโลกออนไลน์ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในหลายครั้งจะเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถแปลงเสียง ตัดต่อภาพวิดีโอได้อย่างแนบเนียน จึงทำให้ง่ายต่อการหลงเชื่อ และเกิดความเสียหายตามมา

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก เพื่อทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้ปรับตัวมาเป็นผู้ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้สูงอายุพัฒนาศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุ ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย 

"กองทุนพัฒนาสื่อฯ" ยกระดับผู้สูงวัยรู้เทันภัยออนไลน์-ผลิตสื่อสร้างสรรค์

และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม สามารถปรับตัวไปกับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และสร้างผลผลิตให้สังคมได้ อายุจึงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ 

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ มุ่งเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุจากทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) โดยดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน พ.ศ. 2566 – 2570 มี  5 ยุทธ + 6 สร้าง หมายถึง 5 ยุทธศาสตร์ และ 6 สร้าง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้สำเร็จ โดยใน 6 กลยุทธ์มีทั้งการสร้างสื่อ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างเครือข่าย และสร้างองค์กรซึ่งเราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน กล่าวว่า ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า และมีส่วนสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กจึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ในการสร้างแนวทางการใช้เทคโนโลยีทางดิจิทัล ให้ตอบสนองต่อทักษะการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

รวมไปถึงการสร้างสรรค์และผลิตชิ้นงานสื่อที่สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสในการสร้างอาชีพที่สำคัญโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจสภาพของสังคมผู้สูงอายุทั้งในมิติด้านคุณค่าส่วนบุคคลและมิติเชิงสังคม