เปิดผลสำรวจปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสังคมไทย

12 ธ.ค. 2567 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2567 | 11:38 น.

เปิดผลสำรวจปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสังคมไทย หลังกองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค พบมีการหลอกลวงออนไลน์ ข้อมูลลวงและข่าวปลอม การระรานทางไซเบอร์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยผลสำรวจและข้อสรุปการจัดกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค จากนักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน เยาวชน และประชาชนหลากหลายกลุ่ม พบว่า ภาพรวมปัญหาโซเชียลมีเดียกำลังเป็นดาบสองคม ผลสำรวจพบปัญหาหลักเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสังคมไทย ประกอบด้วย 

  • การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam) : การแอบอ้างเป็นองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ การหลอกให้ลงทุนออนไลน์ การหลอกให้รักเพื่อให้ส่งเงินให้ เป็นต้น 
  • ข้อมูลลวงและข่าวปลอม (Fake News) : มีการแชร์ข้อมูลผิดอย่างแพร่หลาย สร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง 
  • การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) : การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางโซเชียลมีเดีย 
  • การรับสื่อและการเข้าถึงสื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน 
     

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวทำให้ได้เห็นภาพรวมปัญหาจริงในพื้นที่ และเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้คนไทยตื่นตัวเรื่องการใช้สื่ออย่างปลอดภัย โดยเสียงสะท้อนจากผลสำรวจดังกล่าวจะช่วยเป็นแนวทางพัฒนานโยบายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยให้ร่วมกันพัฒนาการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

เปิดผลสำรวจปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อสังคมไทย

สำหรับ ปี 2567 สถานการณ์และประเด็นปัญหาที่กองทุนควรส่งเสริมความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน มีผลสำรวจ ประกอบด้วย 

  • ภาคเหนือ อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam) 
  • ภาคใต้ อันดับที่ 1 คือ ข้อมูลลวง (Fake News) 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam)
  • ภาคกลาง ภาคตะวันออก 
  • ภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงออนไลน์ (Online Scam)

ด้านของการสร้างคุณค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft power) ที่กองทุนควรส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด พบว่า ภาคเหนือ คือ วัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา 
 

,ภาคใต้ คือ การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา ประเพณีท้องถิ่น อาหาร ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น การท่องเที่ยว ภูมิปัญญา และภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก คือ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญา การท่องเที่ยว 

ขณะที่ประเภทของสื่อที่เหมาะสมในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน พบว่า ภาคเหนือ อันดับที่ 1 คือ สื่อมัลติมีเดีย อาทิ อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ หนังสือเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ บล็อก พอดแคสต์ เป็นต้น ,ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รายการสารประโยชน์ รายการสาระบันเทิง รายการสารคดี 

โดยรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมในการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน พบว่า ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับที่ 1 คือ การผลิตสื่อ อาทิ ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รายการสารประโยชน์ รายการสาระบันเทิง รายการสารคดี เป็นต้น 

ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก อันดับที่ 1 คือ การจัดกิจกรรมให้ความรู้ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา การเสวนา เป็นต้น

"ข้อค้นพบที่ได้จากกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาคมีแนวทางการใช้ประโยชน์ใน 3 แนวทาง คือ การพัฒนาข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนากลไกการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้บรรลุภารกิจของกองทุน การพัฒนาข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นประเด็นการให้ทุนสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการนำข้อมูลที่ได้จากข้อค้นพบมาเป็นฐานในการจัดทำโครงการดำเนินการเองของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปีต่อไป"