นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 31 ธ.ค. 67 ได้ตรวจติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ พร้อมรับฟังข้อมูลความคืบหน้าและแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กทม. ได้มีคำสั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 67 – 5 ม.ค. 68 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งได้กำชับให้ดูแลความปลอดภัยทุกด้านครอบคลุมทั่วพื้นที่ กทม. ตลอด 24 ชั่วโมงตลอดค่ำคืนนี้จนถึงช่วงเช้า
ขณะเดียวกันในแต่ละวันจะมีรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ช่วยบัญชาการเหตุการณ์ มีการประชุมหารือและติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน อาทิ อุบัติเหตุบนท้องถนน ไฟไหม้ อุบัติภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้มีการติดตามสถานการณ์ นำข้อมูลมาประมวล และบริหารจัดการ พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าดูแลในจุดต่าง ๆ ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการย่อย ณ 50 สำนักงานเขตด้วย
นายแสนยากร กล่าวต่อว่า จากการประชุมวันนี้ (31 ธ.ค. 67) รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กำชับคุมเข้มทุกจุดในค่ำคืนวันนี้จนถึงช่วงเช้า (31 ธ.ค. 67- 1 ม.ค.68) ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นวันส่งท้ายปีเก่า หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมเคานท์ดาวน์ รวมถึงการสวดมนต์ข้ามปี และมีการจุดพลุในแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง
สำหรับการรายงานสถานที่จัดงานจำนวน 27 แห่ง และมีที่ขออนุญาตจุดพลุไว้ จำนวน 18 แห่ง จะมีประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ประชุมได้เตรียมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยกรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัยทั้งทางบกและทางน้ำ
นอกจากนี้พร้อมกำชับทุกสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทีมช่วยเหลือฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัด เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ รถพยาบาล เวชภัณฑ์ และโลหิตสำรอง อีกทั้งจัดทีมแพทย์ พยาบาล ประจำจุดต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามยังได้เน้นย้ำ มาตรการป้องกันเหตุอัคคีภัยและการจุดพลุ แผนอพยพประชาชนในกรณีฉุกเฉินและทางออกตามจุดต่าง ๆ ของสถานที่จัดงาน พร้อมกำชับเรื่องการจัด Service Lane เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและทำให้สามารถลำเลียงคนออกจากสถานที่ได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
นายแสนยากร กล่าวต่อว่า ได้ย้ำเตรียมพร้อมสัตว์เลี้ยงรับมือเสียงพลุปีใหม่ ป้องกันตกใจหนีหาย ซึ่งเสียงพลุอาจสร้างความตื่นตกใจ ความเครียดและความหวาดกลัวให้กับสัตว์เลี้ยงบางตัว สามารถเตรียมความพร้อมของสัตว์เลี้ยงก่อนจุดพลุปีใหม่ได้ ดังนี้
1.หาพื้นที่ที่สัตว์เลี้ยงจะรู้สึกถึงความปลอดภัย
2.ควรปิดหน้าต่างและประตูทุกบาน เพื่อป้องกันเสียงดังเข้ามาทำให้สัตว์เลี้ยงตื่นตกใจ
3.เจ้าของควรอยู่เป็นเพื่อนกับสัตว์เลี้ยงหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงเพื่อลดอาการความหวาดกลัว
4.จัดเตรียมของเล่นและขนมให้พร้อม
ทั้งนี้หากสังเกตพบว่าสัตว์เลี้ยงมีความผิดปกติ มีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง หรือมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล อาจต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ว่ามีวิธีใดจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงไม่เครียดหรือหวาดกลัวกับเสียงที่ดังจนเกินไป
นอกจากนี้อย่าลืมสวมปลอกคอที่ติดป้ายชื่อและหมายเลขติดต่อกลับของเจ้าของที่สัตว์เลี้ยง เพราะหากสัตว์เลี้ยงเกิดการหนีหรือหายไป ผู้ที่พบสัตว์เลี้ยงของท่านจะได้ติดต่อกลับได้อย่างถูกต้อง