ในหลวง พระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์

03 พ.ย. 2566 | 13:14 น.
อัพเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2566 | 13:25 น.

ในหลวง พระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2566) เวลา 19.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประธานอำนวยการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมใหญ่ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประธานอำนวยการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดแสดงโขน 



 

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพรและการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” องก์ที่ 1 และองก์ที่ 2 ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้กำกับการแสดง ผู้แทนผู้เชี่ยวชาญและครูฝึกซ้อม ผู้อำนวยการฝึกซ้อม ผู้กำกับศิลป์และผู้แทนนักแสดง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานช่อดอกไม้ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชปณิธานในการที่จะทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงห่วงใยว่าศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยจะเลือนหายไป จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้รวบรวมครูผู้เชี่ยวชาญและศิลปิน ศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาของการแสดงโขน โดยในปีพุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ดำเนินการฟื้นฟูจัดสร้างเครื่องแต่งกาย ศิราภรณ์ หัวโขนและเครื่องประดับทุกชนิดขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขน และส่งเสริมให้ครูผู้เชี่ยวชาญโขนฝึกฝนเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อสืบทอดการแสดงโขนต่อไป

สำหรับปี 2566 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณ ทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำนอนขวางแม่น้ำไว้เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม 

นอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงามโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนมีฝีมือการร่ายรำอันงดงามถูกต้องตามจารีตแล้ว การแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ยังมีความโดดเด่นจากเทคนิคพิเศษอันตระการตาของฉากกุมภกรรณทดน้ำเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่พลับพลา ฉากหนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่ ฉากหนุมานดำลงสู่ใต้น้ำ รวมถึงความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต ตลอดจนการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะอีกด้วย