ก.พ.ร. ผนึก DGA สร้างรัฐบาลดิจิทัลไทย ให้เกิดขึ้นจริง

18 มิ.ย. 2566 | 02:21 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 02:21 น.

“รัฐบาลดิจิทัล” เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ผ่านพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เป็นหัวหอกสำคัญในการยกระดับการให้บริการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.พ.ร.ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้หน่วยงานของรัฐพัฒนาระบบการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ โดยมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) ให้ไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)

ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับ e-Service ของหน่วยงานให้เกิดการให้บริการที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ การส่งเสริมนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบ Digital by Design การเรียนรู้จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จนำมาเป็นต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

ก.พ.ร. ผนึก DGA สร้างรัฐบาลดิจิทัลไทย ให้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ได้กำหนดตัวชี้วัดเป็นกลไกการขับเคลื่อนได้แก่ การพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ e-Service ทั้งการพัฒนาเป็นรายงานบริการ และการพัฒนางานบริการในรูปแบบ Agenda จำนวน 12 Agenda ซึ่งรวมการทำบัตรประชาชนดิจิทัล ที่เป็นอีกหนึ่ง Agenda ที่สำคัญ รวมถึงการพัฒนาข้อมูลให้เป็นดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

“ระหว่างพัฒนาเรื่อง e-Service เราพบปัญหาที่สำคัญคือ มีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคอยู่ 85 ฉบับ จึงได้แก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการออก พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ทำให้ประชาชนสามารถติดต่อเราทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐก็สามารถสื่อสารกันเองด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้และเรายังออกวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกำหนดให้มีมาตรฐานในการติดต่อสื่อสาร ทั้งด้านข้อมูล การสื่อสารการเชื่อมโยง และความปลอดภัย” นางสาวอ้อนฟ้ากล่าว

ก.พ.ร. ผนึก DGA สร้างรัฐบาลดิจิทัลไทย ให้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้หลังจากพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร.ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้หน่วยงานของรัฐสามารถปรับเปลี่ยนและยกระดับการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่

  1. วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน 
  2. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อให้การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐเป็นแบบเบ็ดเสร็จ ครบ จบ ณ จุดเดียว ประชาชนสามารถรับบริการได้แบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานของรัฐ มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารของทางราชการผ่านระบบ ทำให้ประชาชนไม่ต้องแนบสำเนาเอกสารที่ไม่จำเป็นในการติดต่อราชการอีกต่อไป

 “หลังจากสถานการณ์โควิดเข้ามา ทุกหน่วยงานก็มีความพร้อมด้านดิจิทัล ส่งผลให้ความพึงพอใจในบริการของภาครัฐปรับโฉมทันที จากเดิมอยู่ที่ระดับประมาณ 70% แต่เมื่อเริ่มใช้บริการดิจิทัล ความพึงพอใจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80-85% และพบว่า การให้บริการทางออนไลน์มีความพึงพอใจสูง”

ด้านดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวว่า เมื่อพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ออกมาแล้ว ถือว่าเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดของกฎหมายการพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่ง DGA ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ได้จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับภาครัฐ ที่เป็นคู่มือการปฏิบัติตาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานในระดับต่างๆ สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ได้แก่

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

  • หน่วยงานระดับเริ่มต้น ให้หน่วยงานประกาศช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email หรือใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่มีการลงทะเบียนอีเมลกับ DGA หรือขึ้นทะเบียนทางการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 สำหรับให้บริการประชาชนและเป็นช่องทางในการติดต่อหน่วยงาน เพื่อป้องกันอีเมลหลอกลวง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐมาขึ้นทะเบียนแล้ว 6,500 หน่วยงาน
  • หน่วยงานระดับมาตรฐานที่มีบริการ e-Service แล้ว ให้หน่วยงานจัดทำวิธีการที่เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การให้บริการผ่านแอปพลิเคชันก็ต้องมีการขึ้นทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ (google play, Appstore) มีระบบรองรับการรับ/ส่ง รวบรวมข้อมูล และจัดเก็บ เผยแพร่ตลอดจนครบกระบวน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสืบค้นข้อมูลได้สะดวก
  • หน่วยงานที่ต้องการระบบเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนตามพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ได้ทันที DGA ก็มีแพลตฟอร์มกลาง ทั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (gdx.dga.or.th), ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), ศูนย์กลางบริการภาครัฐ เพื่อภาคธุรกิจ (bizportal.go.th) และแอปพลิเคชันทางรัฐและ DGA ได้เตรียมระบบท้องถิ่นดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานระดับอปท.สามารถบริหารงานและให้บริการผ่านระบบดิจิทัล หน่วยงานที่สนใจติดต่อ DGA เพื่อใช้งานระบบได้ 

ก.พ.ร. ผนึก DGA สร้างรัฐบาลดิจิทัลไทย ให้เกิดขึ้นจริง

“การดำเนินการเหล่านี้ จะทำให้ราชการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และทำให้เราสามารถให้บริการประชาชนผ่านแอเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบดิจิทัลได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้บริการภาครัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่หน่วยงานเพื่อยื่นคำร้องหรือไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่ทำการร้องขอ และสามารถติดต่อ ตรวจสอบความคืบหน้ากระบวนการต่างๆ ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ช่องทางอีเมล หรือการดาวน์โหลดจากแอปลพิเคชัน เว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นต้น และท้ายที่สุดประชาชนสามารถตรวจสอบใบอนุญาตเหล่านั้นได้” ดร.สุพจน์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,897 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2566