ในการแถลงเปิดตัวโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000บาท เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคมที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า หากเริ่มดำเนินโครงการเงินดิจิทัลแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก
10 ปีเศรษฐกิจโตเฉลี่ย 1.9%
นายพิชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตตกต่ำมาอย่างยาวนาน มากกว่า 15 ปี และเห็นชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90%ของจีดีพี ขณะที่มูลค่าเศรษฐกิจไทยใกล้แตะ 19 ล้านล้านบาท หากรวมสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเข้าไป จะเห็นมูลหนี้ประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท ฉะนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เมื่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง ส่งผลไปถึงการผลิตลดลง ภาคธุรกิจชะลอตัว โดยสาเหตุของการก่อหนี้ประชาชน มองว่า มาจากรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องการจะแก้ปัญหาด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีรายได้สูงขึ้น ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ประเทศไทยไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับชาวโลก ทั้งการผลิต และการให้บริการ โดยส่งผลไปยังยอดการส่งออก ลดลงเรื่อยๆ จากสัดส่วน 70%
“เมื่อ 2 เสาหลัก คือ ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจเกิดปัญหา ทุกรัฐบาลต้องสร้างหนี้เพื่อเข้ามาช่วยเหลือดูแล ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 64%ต่อจีดีพี และกำลังเข้าสู่กรอบหนี้สาธารณะที่เราตั้งไว้ไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี ซึ่งเราสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ไม่เกิน 14 ล้านล้านบาท และวันนี้มีหนี้อยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท ยอมรับว่าเราเหลือกระสุนอีกไม่เยอะ”นายพิชัยกล่าว
เมื่อเดินมาถึงวันนี้ 10 เดือนของการทำงาน รัฐบาลยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลวิเคราะห์นั้นใช่จริง เพราะอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาก็ยังไม่เติบโต อยู่ที่ 1.5% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณของภาครัฐ ที่ีมีผลบังคับใช้ล่าช้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.9% เท่านั้น เป็นการเติบโตค่อนข้างต่ำ
นายพิชัยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 2.4% แม้จะยังเติบโต แต่ไม่พอ รวมทั้งรายได้ที่มองว่า จะเติบโตไม่พอ เพราะติดเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้แก้ไขได้ภายในวันเดียว ระหว่างการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นต้องให้ความสำคัญกับเสาหลักของประเทศ คือ ประชาชน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากจะมีผลต่อความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้บริโภค และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะได้มีการกำหนดพิกัดการใช้จ่ายในเขตอำเภอ มีเม็ดเงินลงกว่า 788 อำเภอ ส่วนโครงการดิจิทัล จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 3% หรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ และจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย
TDRI ชี้เงินหมุนในระบบจำกัด
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวว่า ในภาพใหญ่การกระตุ้นของพายุทั้ง 4 ลูกน่าจะให้ผลลัพธ์เป็นเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้จำกัด โดยคิดเป็นตัวคูณ ประมาณ 0.5-0.9 เท่าของเงิน 4.5 แสนล้านบาทหรือเทียบเท่ากับ 2.25-4.05 แสนล้านบาท และอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปีแรก(ต.ค.67-ก.ย. 68) ประมาณครึ่งหนึ่งขณะที่ในภาพย่อยที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผลลัพธ์มันเยอะคือ เข้าใกล้กับตัวเลข 4.05 มากกว่าตัวเลข 2.25 ซึ่งเป็นภาพย่อยที่ ภาครัฐควรจะต้องดำเนินการให้ดี
นั่นคือพายุลูกที่ 1 ประชาชนที่เดือดร้อน ยากจนควรจะสามารถสมัครเข้าใช้สิทธิได้โดยง่าย และสามารถไปใช้สิทธิได้โดยง่าย นั่นก็คือ ต้องมีร้านขนาดเล็กที่รองรับในพื้นที่มากเพียงพอ พายุลูกที่ 2 และ 3 หมายถึง ร้านค้าขนาดเล็กต้องสามารถใช้เงินกับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ ซึ่งแปลว่าต้องได้รับความร่วมมือทั้งร้านเล็กและร้านใหญ่
อย่างไรก็ดี ร้านขนาดเล็กในอดีตจะติดปัญหาคือ ถ้าเกิดมีรายได้แล้วต้องเสียภาษี ขณะที่ร้านใหญ่จะติดปัญหาคือ พอร้บเงินจากร้านเล็กแล้วจะอยู่ในรูปของเงินดิจิทัล ต้องรอเวลาหรือเสียต้นทุนที่จะแปลงเป็นเงินบาท ทำให้ร้านใหญ่จะได้รับเงินช้า ขณะที่รูปแบบการซื้อขายในอดีต จะเป็นร้านเล็กที่ต้องให้เงินร้านใหญ่ทันที ส่วนร้านใหญ่ถ้าต้องจ่ายเงินร้านเล็กจะให้ช้ากว่า
ดังนั้น ร้านใหญ่ก็อาจจะไม่อยากจะเข้าร่วมถ้าได้เงินช้า ท้ายที่สุด ความโปร่งใส เสถียรภาพของระบบสำคัญมาก หากถูกโกง ระบบไม่นิ่่ง ก็ไม่อยากจะใช้ พายุก็จะหมุนช้าลง
กระตุ้นจีดีพีปีนี้เพิ่ม 0.2%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หากเงินดิจิทัลเริ่มใช้จ่ายได้จริงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แสดงว่าปีนี้จะมีเงินหมุนเวียนสำหรับโครงการนี้ 2 เดือน ซึ่ง หอการค้าไทยประเมินว่า น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไตรมาส 4 ได้ประมาณ 0.5-1.0% โดยไตรมาส 4 น่าจะโตได้ 3.5-4% จากที่คาดว่า 2.5-3% และทั้งปีนี้คาดดิจิทัล วอลเล็ต น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม 0.2% จากที่กระทรวงการคลังประเมินจีดีพีไทยปีนี้จะโต 2.4% เป็น 2.6-2.7%
อย่างไรก็ดีหอการค้าไทย มีข้อเสนออยากเห็นเงินดิจิทัล วอลเล็ตสามารถจะส่งเสริมให้ SMEs ขนาดเล็ก ร้านค้าชุมชนสามารถไปต่อยอดในทางธุรกิจได้ ซึ่งจะทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนของเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าจะเห็นผลชัดเจนในเรื่องการใช้จ่าย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า โดยจะเกิดการใช้จ่ายมากในช่วงปีใหม่
เปิดขั้นตอนลงทะเบียน
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 แล้วจะทราบผลการลงทะเบียนในวันที่ 22 ก.ย.67 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งยอมรับว่า การดำเนินโครงการดิจิทัล จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้ลดลง เนื่องจากดำเนินการในช่วงปลายปี จากเดิมที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.2-1.8%
“ในทางตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะมีผลในปีนี้ลดลง เนื่องจากเราเริ่มโครงการใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่จะไปมีผลกับเศรษฐกิจในปี 68 ที่รัฐบาลเติมเม็ดเงิน 450,000 ล้านบาท ลงไปในระบบเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นจีดีพี 1.2-1.8% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะมีผลทางจิตวิทยาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในช่วงปลายคึกคัก เนื่องจากภาคการผลิตก็จะมีผลิตสินค้าเพื่อสต๊อคของไว้จำหน่าย”
สำหรับการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิโครงการดิจิทัล ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” รัฐบาลได้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมีสมาร์ทโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 1 ส.ค. -15 ก.ย.67 และกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ จะเปิดให้ลงทะเบียน 16 ก.ย. - 15 ต.ค.67 โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าไปอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จะมีการแถลงข่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง
ส่วนการลงทะเบียนร้านค้านั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการและเงื่อนไขอื่นๆ ให้ครั้งถัดไป โดยคาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 2 ล้านราย โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่เป็นนิติบุคคล 910,000 ราย, ร้านค้าธงฟ้า 198,000 ราย, ร้านค้าโชห่วย 400,000 ราย, ร้านค้าเกษตรและวิสาหกิจชุมชน 93,000 ราย, ร้านค้าส่ง-ค้าปลีก 50,000 ราย, และร้านค้าปลีกที่กระจายอยู่ในห้างสรรพสินค้าอีก 500,000 ราย
ค้าปลีกภูธรขอชัดเจนก่อนร่วม
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสานกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนแน่นอนว่า ร้านค้ารายย่อยระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่จะไม่เข้าร่วมในตอนนี้ เพราะถ้าร่วมโครงการแล้วมีระยะเวลารอรับเงินคืน เช่น 30-90 วัน เหมือนดึงเงินสดออกจากร้านค้า แล้วรัฐบาลขอเครดิตทิ้งภาระค่าใช้จ่ายไว้ให้ผู้ประกอบการ
ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าหรือห้างภูธรกว่า 90 ราย ทั่วประเทศจะพูดคุยกันอีกครั้ง พร้อมร่วมพูดคุยกับซัพพลายเออร์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินดิจิทัลและทิศทางว่าจะเป็นอย่างไร แต่ละคนมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
“ประเด็นนี้ถูกพูดถึงมานานแล้ว ในมุมมองผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่จะรู้เรื่องเงินสด หนี้สิน กำไร ขาดทุน การใช้เงินดิจิทัลจะไปแลกเป็นเงินแบบไหน และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาการันตีได้ว่า เงินดิจิทัลจะช่วยประชาชนหรือผู้ประกอบการอย่างไร จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากน้อยแค่ไหน” นายมิลินทร์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,013 วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567