“อุดมเดช” ประชุมขับเคลื่อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผย รัฐจัดสรรงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท ดับไฟใต้ ระบุสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังคุมได้ไม่หมด ต้องแก้ปัญหาต่อไป หากไม่ทำอะไรเลยอาจเสียดินแดน
18 ต.ค.60 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 หลังสำนักงบประมาณ เห็นชอบจัดสรรงบประมาณ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 54 หน่วยงาน 78 โครงการ 85 กิจกรรม ทั้งสิ้น 13,255,744,700 บาท
พล.อ.อุดมเดช ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ตัวเลขงบประมาณที่จัดสรรไม่ได้มากอย่างที่คิด เป็นงบปกติเหมือนพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะต้องเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานนำงบไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลที่ลงไปช่วยขับเคลื่อน บูรณาการงานต่าง ๆ ซึ่งเกณฑ์ทำงานอยู่ในระดับที่พอใจ มีเพียงงานด้านความมั่นคง เรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เพราะยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ยังไม่สามารถควบคุมกลุ่มที่เห็นต่าง แต่หากดูในภาพรวมพบว่าสถิติลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนงานด้านการพัฒนา อยู่ในระดับดี มีความก้าวหน้า งานเสริมสร้างความเข้าใจทั้งในและนอกประเทศ ก็ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ชี้แจงให้ประเทศต่าง ๆ เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่และวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาล ทั้งนี้การดำเนินงานต่าง ๆ เดินมาได้ดีแล้ว ซึ่งจะนำแนวทางในปีงบประมาณ 2560 มาใช้ในปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกัน 3 ประการ คือ ตรงตามนโนบายของรัฐบาล สอดคล้องกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า งบประมาณ ในกลุ่มงานที่ 1 รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งได้งบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ว่า จะอยู่ในส่วนของการดูแลสิทธิกำลังพล การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น เช่น โดรน หรือเสื้อเกราะกันกระสุน แต่ กอ.รมน. ซึ่งเป็นผู้ใช้งบหลัก ก็ระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้งบประมาณ
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งว่ารัฐทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ลงไปการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สงบนั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า หากมองด้วยความเป็นธรรม และยุติธรรม ก็น่าเห็นใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่ายังคุมได้ไม่หมด ต้องแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ในภาคใต้มีทั้งเรื่องภัยแทรกซ้อนและอุดมการณ์ทางความคิด ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์อาจแย่ไปกว่านี้ และอาจนำไปสู่สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ การเสียดินแดน ดังนั้นขอให้ประชาชนเข้าใจและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็กำชับให้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนบูรณาการการขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปีงบประมาณ 2561 สูงสุด 5 อันดับแรกคือ 1. สํานักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 3,904,908,800 บาท 2. ส่วนราชการไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวง จำนวน 2,560,496,300 บาท 3. กระทรวงกลาโหม จำนวน 2,260,2 33,900 ล้านบาท 4.กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในกำกับ จำนวน 1,799,808,500 บาท
5. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,508, 349,800 บาท ในส่วนของ 7 กลุ่มงาน กลุ่มงานที่ 1 งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6,115.0048 ล้านบาท กลุ่มงานที่ 2 งานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 907.1540 ล้านบาท กลุ่มงานที่ 3 งานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ/เรื่องสิทธิมนุษยชน 428.2280 ล้านบาท กลุ่มงานที่ 4 งานการศึกษาศาสนาและศิลปวัฒนธรรม 2,5570.5944 ล้านบาท กลุ่มงานที่ 5 งานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน 2,028.4730 ล้านบาท กลุ่มงานที่ 6 งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย 1,068.6 690 ล้านบาท และกลุ่มงานที่ 7 งานแสวงหาคำตอบจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี137.6215 ล้านบาท