วันนี้ (27 พ.ย.67) เวาลา 10.00 น. นายชัชนัย ปานเพชร ในฐานะผู้เสียหาย และเครือข่ายตัวแทนผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือ ต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อร้องทุกข์ กล่าวโทษ และ ดำเนินการสืบสวนสอบสวน คณะกรรมการ ผู้บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) และกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่
นายชัชนัย ปานเพชร เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้พบเห็นการบริหารงานที่ไม่ชอบมาพากลของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท ไทยออยล์ฯ ในการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) และอาจมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้ บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
จึงมาร้องหน่วยงานทั้งสองเพื่อ กล่าวโทษนำผู้ทำความผิดทั้งทางแพ่งและอาญามาลงโทษ โดยได้โปรดดำเนินการสืบสวน สอบสวน ตามอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
จากกรณีที่ บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้เข้าลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ในเดือนสิงหาคมปี 2561 มีมูลค่าโครงการประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ159,225 ล้านบาทไทย ประมาณการดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างขณะนั้นอยู่ที่ 151 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 4,983 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง และยังเพื่อความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ สามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมัน (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50
โดยการเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล และได้มีการเปิดประมูลประกวดราคาผู้รับจ้างเหมาออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) ของโครงการ CFP แต่จนถึงปัจจุบันไม่สามารถส่งมอบงานได้ ภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญา และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อีกต่อไป เพราะติดปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ อีก
ผลการประกวดราคา ปรากฏว่า บริษัท Petrofac International (UAE) LLC, Samsung Engineering Co., Ltd., และ Saipem S.P.A. ได้รับการคัดเลือกและได้ทำสัญญาจ้าง EPC ดังกล่าวกับไทยออยล์ และได้เริ่มดำเนินการโครงการเรื่อยมา
กระทั่งในปัจจุบัน ปรากฏว่า กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงจาก UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem จำนวน 28 บริษัท ตัดสินใจระงับการดำเนินงานก่อสร้าง เนื่องจากยังไม่ได้รับชำระค่าตอบแทนตามสัญญา นานถึง 8 เดือน เป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุทำให้บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้รับความเสียหายตามที่ปรากฏ
ดังนั้น ในฐานะผู้ถือหุ้น ของบริษัท ไทยออยล์ฯ ได้ติดตามข่าวและตรวจสอบข้อมูล พบว่า โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ฯเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนถึง 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับใช้ขบวนการผลิต หรือ เทคโนโลยี LC-Max ซึ่งเป็นเจ้าแรกของโลก ทำให้ไม่มีการศึกษาและประเมินผลก่อนดำเนินโครงการ ต้นทุน ในการกลั่นน้ำมันก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากยังไม่เคยมีโรงกลั่นใดในโลกใช้มาก่อนในรูปแบบเดียวกัน ณ วันที่ตัดสินใจพิจารณาอนุมัติโครงการ จึงไม่มีข้อมูลอ้างอิงจากโรงกลั่นอื่นๆ
ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ไม่ควรเสี่ยงต่อการลงทุน เพราะใช้เทคโนโลยีที่ใหม่ ไม่มีผลการศึกษาและผลประกอบในเชิงพาณิชย์ มาเป็นเครื่องยืนยันความเป็นไปได้ของโครงการอย่างแน่นอน
“ต้องถือว่าเป็นความผิดชัดเจนของกรรมการ และผู้บริหารในการตัดสินใจผิด ลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการนี้ โดยก่อนตัดสินใจลงทุนควรจะศึกษาผลสำเร็จของโครงการที่ลงทุนให้ชัดเจนรอบคอบเสียก่อน และจนถึงปัจจุบันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าโครงการล้มเหลว ยากที่จะดำเนินการต่อให้สำเร็จ และถ้าฝืนดำเนินการต่ออาจต้องใส่เม็ดเงินลงทุนมากขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งตัวเลขอาจแตะถึง 300,000 ล้านบาท และไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของโครงการได้เลย และคงไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยเงินกู้เพิ่มเติมให้อย่างแน่นอน ซึ่งถึงขนาดทำให้ของบริษัท ไทยออยล์ฯ ล้มละลายได้เลย”
นอกจากนี้ บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับจ้างเหมาออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) ของโครงการ ก็ไม่ได้มาตรฐาน มีทุนจดทะเบียนที่ต่ำ ไม่เหมาะสมกับมูลค่าโครงการ ไม่มีสำนักงานเป็นหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีไม่สามารถบังคับคดีได้ ซึ่งเป็นการบริหารงานของกรรมการและผู้บริหารงานของ บริษัท ไทยออยล์ฯ ที่ล้มเหลวมากในการดำเนินกิจการตามปกติธุระและเสียเปรียบผู้รับเหมาอย่างมาก
การที่บอร์ดบริหาร หรือ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ โดยไม่ศึกษาในทุกมิติอย่างละเอียด ถึงผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัย ดังต่อไปนี้ให้เหมาะสมกับมูลค่าโครงการ คือ
1. ผลกระทบจากความเป็นไปได้ ที่เทคโนโลยีที่นำมาใช้จะไม่สามารถดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นโรงกลั่นแรกของโลกที่มีการนำเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ในระดับเชิงพาณิชย์
2. ผลกระทบจากการที่ว่าจ้างผู้รับเหมาหลัก ซึ่งไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในประเทศไทย จะไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสำเร็จลุล่วงตลอดโครงการ ซึ่งเกิดจากวิธีการคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัท ไทยออยล์ฯ
โดยการแยกกลุ่ม ผู้เข้าร่วมประมูลโครงการนี้ เป็น 2 กลุ่ม หลัก คือ กลุ่ม A และ กลุ่ม B โดยบริษัท S Saipem และ บริษัท Petrofac อยู่ในกลุ่ม ผู้รับเหมาหลัก กลุ่ม A และ บริษัท Samsung อยู่ในกลุ่ม ผู้รับเหมา กลุ่ม B
แต่ต่อมาเมื่อได้รับสัญญาโครงการ ปรากฏว่า บริษัท Saipem และ บริษัท Petrofac มีปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้เหลือเพียงบริษัท Samsung เท่านั้น ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
จากการที่บอร์ดบริหาร หรือ คณะกรรมการบริษัทฯ ขาดวิสัยทัศน์และความรอบคอบในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นทุกมิติ จนเป็นเหตุทำให้บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้รับความเสียหายจนอาจจะล้มละลาย
รวมทั้งผู้รับเหมาช่วงที่ได้รับผลกระทบจากกระบบคัดเลือกผู้รับเหมาหลัก ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่ได้รับชำระค่าตอบแทนตามสัญญา จากบริษัทผู้รับเหมาหลักที่ถูกคัดเลือกมา ทั้งที่บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านั้น ได้รับเงินจากบริษัท ไทยออยล์ฯ ไปแล้ว เป็นเหตุทำให้ผู้รับเหมาช่วงตัดสินใจระงับการดำเนินงานก่อสร้าง
โครงการจึงไม่สามารถดำเนินต่อได้ ทำให้ บริษัท ไทยออยล์ฯ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการที่มีมูลค่าเกือบ 170,000 ล้านบาท ไม่สามารถสร้างเสร็จได้ตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และยากต่อการเยียวยาและแก้ไขได้ในภายหลัง
การอนุมัติให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวถือว่า เป็นการที่บอร์ดบริหาร หรือ คณะกรรมการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ขาดความระมัดระวัง และไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีมากกว่า 39,000 ราย จนทำให้บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นรายย่อย อาจได้รับความเสียหายมหาศาล ซึ่งจะเป็นความเสียหายวงกว้าง กระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท อันอาจเป็นเหตุสำคัญถึงบริษัทล้มละลายได้ในเวลาอันรวดเร็วจากยอดหนี้กู้ยืมสถาบันการเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีผลต่อความน่าเชื่อถือต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/7 , มาตรา 89/10 , มาตรา281/2 , มาตรา307 , มาตรา 311 , มาตรา 312 และมาตรา 313
ดังนั้น จึงมาร้องเรียนต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้โปรดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สืบสวน, สอบสวน คณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ไทยออยล์ฯ การกระทำความผิดทางอาญาตามที่ได้กล่าวหา ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 , และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ เพื่อนำผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็น ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด และผู้ที่ช่วยเหลือปกปิดข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด มาลงโทษตามกฎหมายต่อไปด้วย