เจตนาตุลาคม วันที่ไทยฆ่าไทยและการจากไปของพิราบขาว

06 ต.ค. 2561 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2561 | 17:16 น.
การชุมนุมโดย "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" ตามเจตนารมณ์เพื่อประชาธิปไตย แต่ก็นำมาสู่ความสูญเสียอย่างประเมินค่ามิได้!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ได้แต่งกลอน "เจตนาตุลาคม" เพื่อเป็นการระลึกถึงรำลึกถึงวีรชนผู้สูญเสีย หวังเป็นบทเรียนให้สังคมไทย ก้าวพ้นความรุนแรงอันโหดร้าย
6ตุลา เจตนาตุลาคม

เมื่อ สี่สิบสองปี ที่ผ่านมา
หกตุลา สองห้าหนึ่งเก้า นั่น
เจ้าพิราบ บินคว้างกลางกลุ่มควัน
กระสุนโหดสังหารมัน กลางควันปืน

ครบ สี่สิบสองปี วันนี้แล้ว
ยังแน่แน่วเจตนัย ไม่เป็นอื่น
สังคมเคยล้าหลับ กลับพลิกฟื้น
ลุกขึ้นยืนตื่นตัว อยู่เต็มตา

แต่ตื่นตัว มิใช่ตื่นแค่ยืนตรง
ไปตื่นหลงโลดเต้น เป็นผีบ้า
หรือแค่ตื่นตูมตาม ไม่นำพา
ตื่นไปตามอัตตา บ้าตัวตน

ตื่นตัวตามครรลอง ต้องตื่นรู้
ว่า ใดมิตร ใดศัตรู รู้เหตุผล
วาทกรรม ต้องไม่ใช้ อย่างไกกล
ต้องตื่นบนความจริง ที่เป็นจริง

หกตุลา มาเตือน เพื่อนตุลา
ก้าวหน้าอย่าก้าวล้ำ ถลำกลิ้ง
แสวงร่วม สงวนต่าง ละชังชิง
อย่าละทิ้ง เจตนาตุลาคม !

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์.
๖ ตุลาคม ๒๕๖๑

โดยเหตุการณ์วันนี้เมื่อ 42 ปีก่อน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง จากสาเหตุที่พวกเขาเหล่านั้น ร่วมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี

โดยเป็นผลนับเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นผลให้จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ต้องหนีออกนอกประเทศ

ที่สุดราวกลางปี 2519 มีข่าวว่า จอมพล ประภาส จารุเสถียร จะเดินทางโดยเครื่องบินจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สู่ประเทศไทย ฝ่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดให้มีการชุมนุมต่อต้าน จนกระทั่งในที่สุด จอมพลประภาสจึงยินยอมเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม 2519

แต่ต่อมา จอมพลถนอมได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกในวันที่ 19 กันยายน 2519 โดยก่อนหน้านั้นได้แวะที่สิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ดังนั้น การชุมนุมโดย “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” เพื่อขับไล่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด

โดยในระยะแรก การชุมนุมต่อต้านของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ลานโพธิ์ หน้าอาคารคณะศิลปศาสตร์ และมีการแสดงละครตอนหนึ่ง

จนถึงคืนวันที่ 5 ตุลาคมต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม กำลังฝ่ายต่อต้านนักศึกษาเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณท้องสนามหลวงช่วงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มมีการปะทะกันด้วยอาวุธ

จนกระทั่งเกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยมีตัวเลขอย่างเป็นทางการสรุปว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน

ขณะที่หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี จนได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด