5 พรรค ประชันนโยบาย ชู "พลังงานทดแทน"

13 มี.ค. 2562 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2562 | 18:55 น.
วันนี้ (13 มี.ค. 2562) นายสันติ ภีระนันทน์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยในเวทีเสวนา "ส่องนโยบายพลังงาน" ว่า พรรคฯ มีแนวคิดสร้าง 3 เสาเข็มหลัก ได้แก่ 1.ความมั่นคงพลังงานที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง 2.สร้างประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ ด้วยการกำหนดนโยบายที่ไม่บิดเบือนเป็นหลัก และ 3.เร่งทำพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนทางด้านภาษีเพื่อให้เกิดการนำปาล์มมาผลิตเป็นไบโอดีเซลและบังคับการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5

ขณะที่ การอุดหนุนราคาพลังงานต้องมีการดำเนินการบางครั้ง แต่หากเป็นการอุดหนุนถาวรจะสร้างพฤตกรรมการบริโภคที่ไม่ประหยัด ซึ่งการแทรกแซงควรทำให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำ บิดเบือน ดังนั้น การอุดหนุนไม่ควรอุดหนุนต้นทาง แต่ควรทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งระยะยาว เพราะการอุดหนุนไม่ใช่นโยบายถาวร
 
5 พรรค ประชันนโยบาย ชู \"พลังงานทดแทน\"

ขณะที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการอันดับแรก คือ การทำให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นชุดเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านข้อมูลพลังงาน และภารกิจหลักที่พรรคฯ จะทำก่อน คือ การสร้างความยั่งยืนพลังงานและการบริโภคพลังงานในราคาที่ถูกลง

นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายอุดหนุนราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ราคาแอลพีจีจะถูกตรึงไว้ราคาเดิม รวมทั้งจะต้องมีความชัดเจนด้านการส่งเสริมเอ็นจีวี ขณะที่ การประกันราคาปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม การขยับสัดส่วน บี7 เป็น บี10
 

5 พรรค ประชันนโยบาย ชู \"พลังงานทดแทน\"

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคจะดำเนินการลดราคาน้ำมัน โดยยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลก็ตาม พร้อมกันนี้จะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ลดลงได้ 5 บาทต่อถัง และลดราคาไฟฟ้า

รวมทั้งจะยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม และจะใช้นโยบายพลังงานคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ใหม่ โดยขยายเป้าหมายพลังงานทดแทนให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเป้าหมายเพียงแค่ 20% ซึ่งเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สมจริง พร้อมทั้งสร้างการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น
 

5 พรรค ประชันนโยบาย ชู \"พลังงานทดแทน\"

โดยพรรคเน้นด้านพลังงานหมุนเวียน การวางแผนสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะตั้งเงื่อนไข ว่า การทำต้นทุนพลังงานหมุนเวียนให้ลดลง เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าสัดส่วนพลังงานทดแทนแบบยืดหยุ่น เนื่องจากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเร็ว ขณะที่ ความมั่นคงด้านพลังงานจะเน้นการส่งเสริมการเจรจาแหล่งก๊าซที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน เพื่อความมั่นคง โดยเป้าหมายหลัก คือ การลดการใช้ฟอสซิล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตัวแทนภูมิใจไทย กล่าาว่า แผนระยะสั้นที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ปีละ 25% เป็นเวลา 4 ปี ทำให้ประเทศไทยมีพลังงานทดแทน 100% โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยรัฐบาล ผลักดันการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนดังกล่าว ด้วยการแปรรูปพืชพลังงานให้เป็นพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า พร้อมทั้งผลักดันการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นโยบายพลังงานที่พรรคจะประกาศใน 4 ปี ต้องเพิ่มสัดส่วนพืชพลังงานปีละ 25% จากการศึกษาปัจจุบันรถรุ่นใหม่ สามารถรองรับพลังงานจากพืชพลังงานได้ แต่รถรุ่นเก่าต้องปรับเครื่องยนต์ แต่ใช้เงินไม่มากนัก รัฐจะต้องใช้เงินอุดหนุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้า

5 พรรค ประชันนโยบาย ชู \"พลังงานทดแทน\"