มติศาลรธน.ชี้ป.อาญาม.301ปมหญิงทำแท้งผิดก.ม. ขัดรัฐธรรมนูญ 

19 ก.พ. 2563 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2563 | 09:44 น.

“ศาลรธน.”เสียงข้างมากมีมติ ป.อาญามาตรา 301 หญิงทำแท้งผิดกฎหมาย โทษจำคุก-ปรับ ขัดรธน. ส่วนมาตรา 305 แพทย์ทำแท้งเพราะมีอาการป่วย-ตั้งครรภ์เหตุถูกข่มขืน ไม่ขัดรธน. พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับสภาพการณ์

 

วันนี้ (19 ก.พ.63) ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณี พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา)  มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และ 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ 

โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า ป.อาญา มาตรา 301 ที่บัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นั้น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28 และเสียงข้างมากเห็นว่า ป.อาญา มาตรา 305 ที่บัญญัติว่า” ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และ 302 เป็นการกระทำของแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276  มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด”นั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 และมาตรา 77

                                                                                 มติศาลรธน.ชี้ป.อาญาม.301ปมหญิงทำแท้งผิดก.ม. ขัดรัฐธรรมนูญ                                  พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ 

 

แต่ทั้งนี้เสียงข้างมากก็เห็นว่าสมควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข ป.วิอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งศาลได้กำหนดคำบังคับโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับมาตรา 27 และ 28 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่าบุคคลชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมเสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยความแตกต่างในเรื่องของถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ ภาษา สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะกระทำไม่ได้ ส่วนมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมาย หรือยกเลิกปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรค์ต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน


อย่างไรก็ตาม สำหรับ พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ เป็นแพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย และเปิดคลินิกศรีสมัยการแพทย์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 เคยถูกตำรวจ สภ.หัวหิน บุกเข้าจับกุมเนื่องจากสงสัยว่าเปิดทำแท้งผิดกฎหมาย หลังพบว่ามีชายนำถุงดำใส่ศพเด็กทารก 4 ราย ไปทิ้งในถังขยะ แต่ น.ส.ศรีสมัย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ ของกรมอนามัย ในการทำแท้ง และได้ทำถูกต้องตามระเบียบการทำแท้งของแพทยสภา  โดยทำแท้งให้กับหญิงที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือแม่เป็นเอดส์ ซึ่งต่อมา น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ศาลมีคำวินิจฉัยในวันนี้ โดยอ้างถึงการที่ พญ.ศรีสมัย ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 แต่ก่อนที่ศาลจะมีการพิจารณา น.ส.กฤตยา ได้มีการถอนคำร้องออกไปโดยอ้างว่าต้องการจะทำคำร้องให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ศาลจึงมีคำสั่งเมื่อ 17 ต.ค. 2561 ให้จำหน่ายคดี 

 

ทั้งนี้ตามคำร้องเดิมของ น.ส.กฤตยา ระบุว่า ป.อาญา มาตรา 301 บัญญัติมุ่งลงโทษแต่เฉพาะหญิงที่มุ่งทำแท้งเป็นสำคัญ ทั้งที่การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของหญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ชายที่มีสัมพันธ์กับหญิงต้องร่วมรับผิดและถูกลงโทษด้วย จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ชายและหญิงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 กำหนด

ส่วน ป.อาญา มาตรา 305 ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ ไม่เท่าทันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่เน้นการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ แทนการใช้หัตถการทางการแพทย์ อีกทั้งยังมุ่งคุ้มครองเฉพาะการกระทำของแพทย์ ไม่ครอบคลุมบุคคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ให้บริการภายใต้การควบคุมของแพทย์ จึงไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 77  สมควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้อยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  และมีข้อยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่มีความผิด หากอายุครรภ์ของหญิงนั้นไม่ถึง 12 สัปดาห์ หรือการตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อจิตใจของหญิงนั้น หรือตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม