25 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีการอนุมัติก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นอยู่ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองของกทม.มาตั้งแต่ปี 2552 โดยกำหนดให้สายรองเป็นอำนาจดำเนินการของท้องถิ่น
ต่อมา คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้เห็นชอบให้กทม.ดำเนินการโครงการและมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กทม.ดำเนินการ ระหว่างนั้นกทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ได้หาแนวทางที่จะลงทุนในส่วนนี้เนื่องจากกทม.ไม่มีสภาพคล่อง โดย เคที ตกลงกับภาคเอกชนที่จะให้เอกชนซื้อโฆษณาล่วงหน้าของสายสีทอง 30 ปี ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าของการโฆษณามีจำนวนมาก จากนั้นกทม.ได้มอบหมายให้เคทีดำเนินการภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องไม่พึ่งงบประมาณของกทม.ซึ่งเคทีก็ได้ลงนามในเอ็มโอยูเรื่องโฆษณา
เมื่อมีการอนุมัติให้ดำเนินการทางเอกชนให้งบประมาณกับเคทีเพื่อเป็นค่าโฆษณา เคทีก็ไปดำเนินการสร้างโยธาของสายสีทอง ดังนั้น ถ้าพิจารณาตรงนี้ ถือว่า ระบบขนส่งมวลชนเป็นความจำเป็นของทุกเมืองเพราะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ยานพาหนะของประชาชน และลดอุบัติเหตุ ระบบขนส่งมวลชนที่จะต้องเป็นระบบรางที่มีทั้งระบบหลักและระบบรางเพื่อดึงให้คนเข้าสู่ระบบการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด
“ปัญหาการดำเนินการ ทำได้ช้ามากและใช้เงินลงทุนมากกว่าจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 10 ปี ในอดีตที่ผ่านมามีเอกชนลงทุนงานโยธาเพียงรายเดียว คือ บีทีเอส และประสบปัญหาการขาดทุน จากนั้นเป็นต้นมาภาครัฐต้องเข้ามาลงทุนสร้างงานโยธาเองและจ้างบริษัทเดินรถทำให้การลงทุนเป็นได้ล่าช้าจึงนำมาสู่การลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ หากมีเอกชนรายใดต้องการสร้างงานโยธาของระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่และขอดำเนินการลงทุนทั้งหมดก็ควรจะต้องพิจารณา โดยมีหลักการพิจารณาว่า ถ้าประเทศชาติได้ประโยชน์ก็ควรรับพิจารณาแต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นธรรม มิเช่นนั้นจะต้องรอให้รัฐลงทุนเองซึ่งจะเป็นไปได้ช้ามาก เรื่องนี้เมื่อมีการดำเนินการก่อสร้างแล้ว รัฐจะได้เส้นทางสายสีทองมาโดยไม่ได้ลงทุนงานก่อสร้าง ประชาชนได้สายรองในพื้นที่ที่จะสามารถขยายต่อไปได้อีก
ส่วนเอกชนก็สามารถดำเนินประกอบธุรกิจได้ ส่วนการยกเว้นมติ ครม.ปี 2537 ที่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์นั้นจะต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินนั้นสายสีทองเป็นสายรองที่ต้องเชื่อมกับสายอื่นๆ เช่น สายสีเขียวที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น หากไม่ทำเช่นนี้จะต้องใช้เงินลงทุนและเวลาดำเนินการอีกมาก ดังนั้น มติครม.จึงยกเว้นให้สามารถก่อสร้างบนดินได้เพื่อเชื่อมกับสายสีเขียว”
พร้อมตั้งข้อสังเกตกับที่ประชุมว่า อยากเสนอสภาให้ช่วยพิจารณาเรื่องคำว่า “เอื้อ” ด้วย การลงทุนในประเทศจะต้องมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศจึงต้องมีช่องให้นักลงทุนภายในประเทศได้มีโอกาสลงทุน ขณะนี้สังคมกำลังคิดว่า ทางเอกชนรวยมากและได้เปรียบ ขอให้ลองพิจารณาดูว่า การให้คนที่รวยที่ลงทุนในแผ่นดินภายใต้กฎหมาย ถ้าไม่ให้ลงทุนแล้วก็อยู่อย่างนี้อยู่เฉยๆแต่เมื่อเรามีความสามารถจะทำได้ก็ควรดำเนินการ ทั้งยังยืนยันว่า ในครม.นั้นนายกฯเพียงคนเดียวสั่งไม่ได้เพราะไม่มีใครยอมไปเป็นคดี และอยู่ในครม.ก็มีหลายเรื่องที่ไม่เห็นด้วยและก็ถอนกลับไปเสมอ