วันนี้ (5 มี.ค.63)ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ และกลุ่มพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จำเลยร่วมทั้งหมด เดินทางมาศาลพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นควรแจ้งข้อหาโจทก์ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการสลายการชุมนุมปี 53 จำเลยที่ 1-4 เคยมีความเห็นว่าการชุมนุม นปช.เป็นความผิดกฎหมายจึงแจ้งข้อหาก่อการร้าย แสดงว่าจำเลยทั้งสี่เห็นว่าโจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ แม้ภายหลังการไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ศาลอาญาจะชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหารแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการกระทำโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด
จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกันแล้ว ฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1-4 มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองเพื่อเอาใจรัฐบาล เพื่อมีผลในการต่ออายุตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้งสี่ สืบสวนสอบสวนโจทก์ที่ 1-2 พร้อมแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลทั้งที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.นั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคสอง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรคสอง จึงพิพากษาให้จำคุก จำเลยคนละ 3 ปี แต่คำเบิกความเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 2 ปี ไม่รอการลงโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังญาติของจำเลยที่ 1- 4 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ศาลพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายธาริต จำเลยที่ 1 , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ อดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา และ ร.ต.อ.ปิยะ ในฐานะพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2,3,4 โดยตีราคาประกันคนละ 400,000 บาท ไประหว่างฎีกา โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ
สำหรับคดีดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างเดือน ก.ค.54 - 13 ธ.ค.55 ดีเอสไอ สรุปสำนวนดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย.61 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4 โดยเห็นว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมานั้น ยังไม่แสดงเห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาฝ่ายนายอภิสิทธิ์ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์