วันนี้(1 มิ.ย.63) นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำชี้แจงของ ป.ป.ช. ต่อกรณี "นาฬิกายืมเพื่อน" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า
สืบเนื่องกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้พิจารณาและมีความเห็นกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มีความผิดในการที่ไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินเกี่ยวกับปัญหานาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อนมา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการยืมใช้คงรูปตาม ป.พ.พ. มาตรา 640 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวและได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มีความเห็นขัดแย้งกับความเห็นดังกล่าวของ ป.ป.ช. อย่างสิ้นเชิงและสมาคมทนายความฯ ยังคงยืนยันในความเห็นเรื่องการยืมนาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อนมาว่า บุคคลผู้ครอบครองนาฬิกาจำเป็นจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามข้อกำหนดของ ป.ป.ช. ทุกอย่างโดยเคร่งครัด ด้วยเหตุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องการป้องกันการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมีหน้าที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินในความครอบครองของตนโดยละเอียด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือขั้นตอนแรกในการป้องกันการทุจริต ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้มาและเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม บุคคลผู้ครอบครองทรัพย์สินมีหน้าที่และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเหล่านั้นต่อ ป.ป.ช.โดยละเอียด กรณียืมนาฬิกาหรูเพื่อนมาอยู่ในครอบครองและเพื่อประโยชน์ของตนเอง จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าผู้ครอบครองได้ครอบครองนาฬิกาหรูมีจำนวนเรือนและมูลค่ามหาศาล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้
ครอบครองนาฬิกาเหล่านั้น ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามข้อกำหนดต่อป.ป.ช.โดยเคร่งครัด สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า ป.ป.ช. ควรออกข้อกำหนดให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินประเภทที่ยืมมาทุกประเภททุกชนิด แจ้งรายละเอียดของประเภทและที่มาของทรัพย์นั้นๆ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิของผู้ครอบครองว่ามิได้มีเจตนาปกปิดซ้อนเร้นทรัพย์นั้นแต่อย่างใด ซึ่งความเห็นของ ป.ป.ช. ในเรื่องทรัพย์ที่ยืมมาไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นความเห็นที่ขัดกับหลักการและตรรกะในทางกฎหมายในกระบวนการป้องกันการทุจริตอย่างสิ้นเชิง
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่ามาตรฐานของ ป.ป.ช.ในการแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไม่ว่าป.ป.ช.จะหาเหตุผลต่างๆ ทางกฎหมายมาเพื่ออธิบายรองรับและสนับสนุน เพื่อให้กรณีดังกล่าวเกิดความชอบธรรมทางกฎหมายนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นในการตีความทางกฎหมายที่บิดเบี้ยว อันนำไปสู่การทำลายบรรทัดฐานและจริยธรรมทางกฎหมาย และระบบการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เนื่องจากอาจจะเป็นการเปิดช่องทางการทุจริตให้กับนักการเมืองและข้าราชการทุจริตสามารถรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงได้อย่างถูกต้อง และเป็นการรองรับให้การกระทำการทุจริตให้กลับมาถูกต้องตามกฎหมาย เพียงข้อแก้ตัวง่ายๆว่า “ยืมเพื่อนมา” และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้ตนเองพ้นผิดคือ “ยืมใช้คงรูป” ทุกอย่างก็จบและการได้มาก็ถูกต้องตามกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้