การเขย่าเพื่อเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นชุดใหม่เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยอดีตกรรมการในสายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯหลุดยกแผง แต่สังคมยังจับตาเสถียรภาพรัฐบาล เพราะเชื่อว่าเป้าหมายของเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้เพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 4 กุมารที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ อาจจะต้องหลุดทั้งยวง
จากสถานการณ์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจความคิดเห็นนักวิชากการ และกลุ่มธุรกิจ ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลยังไม่สมควรปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจเวลานี้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ให้เกิดความต่อเนื่อง แต่หากหนีไม่พ้นทีมเศรษฐกิจใหม่จะต้องกลุ่มบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นำพาเศรษฐกิจต่อไปได้
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า หากมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเกิดความล่าช้าไปกว่าเดิมได้ เพราะนโยบายทีมใหม่อาจไม่เหมือนกัน ทำให้การสานต่อบางนโยบายเกิดการหยุดชะงักได้
หากจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ไม่ให้อยากให้ทีมเศรษฐกิจใหม่มารื้อนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจระยะยาวเดิมออกไปจนหมด ควรจะเดินหน้าสานต่อนโยบายที่มีอยู่ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ก่อน และจะต้องเร่งวางนโยบายเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงกว่านี้อีก เมื่อมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ 3-6 เดือนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหมดลง เพราะทั้งประชาชนและผู้ประกอบการจะขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ หรือดำรงชีพ ฉะนั้นหากทีมเศรษฐกิจไม่มีมาตรการออกมาพยุงกลุ่มคนเหล่านี้ อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนักกว่าที่เป็นอยู่ได้
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่มองว่า บุคคลที่จะเข้ามาทำงานเป็นทีมเศรษฐกิจใหม่นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการเงินการคลังและเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นอย่างดี พร้อมทั้งจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่หรือการบริหารงานระดับสูงมาพอสมควร ที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ขณะเดียวกันจะต้องเป็นคนที่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพในการดูแลทีมเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลชุดนี้ได้ เพื่อออกนโยบายต่างๆ ที่สามารถดำเนินงานได้จริงออกมา และคาดว่าจะไม่ล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์ได้บีบบังคับให้ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเร่งแก้ไขและดูแลเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติ รวมถึงการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านบาทที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ตามกรอบที่ดำเนินที่วางไว้
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า การปรับทีมเศรษฐกิจใหม่ มีความน่าเป็นห่วง เพราะรองนายกรัฐมนตรีที่จะมาคุมทีมเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีจะต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจ และต้องเป็นที่ยอมรับของข้าราชการ เอกชน รวมถึงสังคมด้วย เพราะหลายเรื่องต้องเร่งดำเนินการคนที่มาใหม่ต้องสานต่อได้ หากมาเริ่มต้นใหม่จะเสียเวลา เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้ การควบคุมดูแลโควิด-19 เป็นต้น
“การแก้ไขปัญหาโควิด ไทยได้รับคำชื่นชมและเชื่อมั่นจากต่างชาติ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยากเข้ามาลงทุน แต่เมื่อมาลงทุนแล้ว อยากให้ไทยมีความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นแต้มต่อในการทำการค้า การลงทุนเพิ่มขึ้น บวกกับหากการเมืองไทยนิ่ง ได้คณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้เขามากขึ้น”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจมีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะเวลานี้ประเทศไทยอยู่ในโหมดการเยียวยา การฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลคือ หากมีการปรับเปลี่ยนแล้ว แผนงานต่าง ๆ ที่ได้ออกแบบหรือวางแผนไว้แล้ว จะมีความต่อเนื่องหรือไม่ หรือแก้ไขปัญหาได้ดีแค่ไหน
“ทุกวันที่ผ่านไปมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ล้มหายตายจากพิษโควิด คนตกงานไม่มีงานทำเพิ่มขึ้น ยิ่งแก้ไขได้ช้ายิ่งแก้ไขยาก เอกชนอยากได้ความต่อเนื่อง หากมาเริ่มต้นใหม่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เกินเยียวยา”
หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563