ค่าโง่เมืองไทย จ่อคิวลุ้นอีก 3 คดี

31 ก.ค. 2563 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2563 | 11:32 น.

 

ปิดฉากไปแล้วสำหรับ มหากาพย์คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่เกิดจากโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร

 

โฮปเวลล์2.5 หมื่นล.

 

เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ไม่รับคำอุทธรณ์ให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคำร้องขอของ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำให้คำพิพากษาเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562

 

ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวนเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 รวมวงเงิน 25,411 ล้านบาท 

 

โดยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมา เป็นการตัดสินไม่รับอุทธรณ์กรณีที่กระทรวงคมนาคมยื่นหลักฐานใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อให้ศาลพิจารณา แต่ศาลเห็นว่าข้อมูลหรือหลักฐานดังกล่าว ได้รับการพิจารณาไปแล้วจึงไม่รับฟังคำร้อง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนของศาลปกครองในคดีนี้

 

จะว่าไปแล้ว “ค่าโง่เมกะโปรเจกต์” อันเกิดจากกับความบกพร่อง ผิดพลาด (ทั้งที่พลั้งเผลอ หรือ จงใจ) ของหน่วยงานราชการไทย ดูเหมือนจะเป็นของ “คู่กัน” เพระที่ผ่านมาหลายโครง การมักมีสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ค่าโง่” ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงิน ซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ ไปให้กับ “เอกชน” จำนวนมหาศาล  

 

ย้อนไปดู “ค่าโง่” ที่เป็นข้อพิพาทรอเวลาการตัดสินอีกหลายคดี อาทิ

 

ลุ้นเหมืองทอง4หมื่นล.

 

“ค่าโง่เหมืองทอง” เป็นกรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่จ.พิจิตร ฟ้องร้องรัฐบาลไทย กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ จนมีการร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ 

 

โดยมูลค่าความเสียหายของบริษัท อัคราฯ ที่เรียกร้อง อ้างอิงจากปริมาณการผลิตทองในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่า ปริมาณแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ มีมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท และแร่เงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็น 3.9 พันล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4.1 หมื่นล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศักดิ์สยาม” จ่อสู้คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์”

“ค่าโง่โฮปเวลล์” ความเจ็บปวด ของคนไทย

“กพร.” ยันไทยยังไม่แพ้คดี “เหมืองทองอัครา”

"ฟิลลิป มอร์ริส"ลั่นเตรียมอุทธรณ์ หลังศาลสั่งปรับ130ล.สำแดงเท็จ

 

“ฟิลลิปฯ”2 หมื่นล. 

 

คดี “ค่าโง่ฟิลลิป มอร์ริส” โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 คณะผู้พิจารณาขององค์การการค้าโลก (WTO) เห็นด้วยตามข้อเรียกร้องของประเทศฟิลิปปินส์ ว่าประเทศไทยดำเนินการขัดต่อกฎหมายขององค์การการค้าโลก เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายศุลกากร ข้อพิพาทซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ได้เริ่มกระบวนการระงับข้อพิพาทในปี 2551 ส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์มายังประเทศไทย

 

ข้อพิพาทในองค์การการค้าโลกคดีนี้กินระยะเวลามากว่า 10 ปี ประเทศไทยแพ้ทั้ง 3 คดี และแพ้ในชั้นอุทธรณ์ด้วย 

 

ค่าโง่เมืองไทย จ่อคิวลุ้นอีก 3 คดี

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลยุติการฟ้องร้องคดีอาญาบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย เพื่อลดผล กระทบความเสียหาย และความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า

 

ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า สำหรับ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดฯ หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ ที่เดิมบริษัทไทยนำเข้าบุหรี่จากมาเลเซียตั้งแต่ปี 2540-2550 พบว่าการนำเข้ามาราคาหนึ่ง แต่มาสำแดงอีกราคาหนึ่ง พอถูกจับและปรับจึงยกเลิก แล้วนำเข้าจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียแทน แต่ก็ยังมี พฤติกรรมเช่นเดิม 

 

สุดท้ายมีการแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และดำเนินคดีในไทยมายาวนาน และ มีการดำเนินคดีในสวิตเซอร์แลนด์ โดยองค์การการค้าโลก เป็นระยะเวลายาวนานเช่นกัน โดยในส่วนของคดีนอกประเทศปี 2551 ฟิลิปปินส์ฟ้องไทยต่อ WTO ข้อหาผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ 14 ข้อหา และในปี 2553 WTO ให้ไทยแพ้ ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ตอบโต้ทางการค้าได้ แต่ไทยอุทธรณ์ ต่อมาปี 2553 WTO ให้ไทยแพ้ชั้นอุทธรณ์ และในปี 2558 WTO สั่งว่าไทยยังไม่ทำตามคำตัดสิน

 

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ฟ้อง บริษัท ฟิลลิปส์ มอริส และในเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาได้ตัดสินให้ปรับ บริษัท ฟิลลิปส์ มอริส เป็นจำนวน 4 เท่า ของภาษีที่หลีกเลี่ยง เป็นจำนวน 1,225 ล้านบาท

 

กรณีฟิลิปปินส์ฟ้องไทยต่อ WTO และไทยพ่ายแพ้นั้นคดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไทยอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่ก็ถือเป็นอีกคดีหนึ่ง ที่อาจนำไปสู่การเสีย “ค่าโง่” มูลค่า 20,000 ล้านบาท ได้เช่นกัน

 

 

ฟ้องสภาใหม่1.5พันล.

 

“ค่าโง่สภาใหม่” เป็นกรณี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ดำเนินการยื่นฟ้อง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อเดือน เม.ย. 2563 

 

สาระสำคัญที่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ฟ้องสำนักงาน เลขาธิการสภาฯ เป็นกรณีของการส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบล่าช้า เนื่อง จากการขนดินออกจากพื้นที่โดย บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้เรียกร้องค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,590 ล้านบาท

 

แม้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทางสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร จะต่อสัญญาการก่อสร้างให้ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ถึง 4 ครั้งโดยครั้งที่ 4 นี้ จะสิ้นสุดในปี 2563 แต่ไม่เป็นผลที่จะทำให้ บริษัทซิโน-ไทยฯ เลิกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ 

นี่เป็นเพียงบางส่วนของ “คดีค่าโง่” ที่รอเวลาตัดสิน ยังไม่รวม “ค่าโง่” ที่รัฐต้องสูญเสียเงินทองไปแล้ว ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,596 หน้า 10 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2563