วันที่ 23 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย มีการแถลงข่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯ มีมติเห็นชอบงบจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" จากประเทศจีนของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯ ในตอนแรกมีมติเสมอกัน 4 ต่อ 4 แต่สุดท้ายนายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้ลงมติเห็นชอบ ทั้งๆ ที่ตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการฯ นั้นไม่ควรลงมติ ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่นายสุพลกลับลงมติเป็นอีกหนึ่งเสียง ทำให้มติกลายเป็น 5 ต่อ 4 เห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"กรณ์" ค้านซื้อ"เรือดำน้ำ"แนะรัฐใช้งบก้อนใหญ่เร่งแก้ปัญหา"ปากท้อง" ก่อน
ปชป.จี้ทบทวนซื้อ“เรือดำน้ำ” ชี้ปากท้องสำคัญกว่า
'อนุครุภัณฑ์ ไอซีที' เห็นชอบกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 2.25 หมื่นล้าน
ผวา“เรือดำน้ำ” เติมเชื้อไฟการเมือง เสนอกมธ.ทบทวน
ทั้งนี้ มีการล็อบบี้ในคณะอนุกรรมาธิการฯ หรือไม่ เพราะครั้งแรกกองทัพเรือเข้ามาเสนองบประมาณ แต่อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า หากจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว และไม่ได้ผูกพันลำที่ 2 และ 3 ก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน อย่าเพิ่งซื้อ แต่กองทัพเรือไม่ยอม ดึงดันจะซื้อให้ได้ สุดท้ายจึงถูกแขวนไว้ ไม่ให้ผ่าน เพราะอนุกรรมาธิการฯ มีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำไม่จำเป็นในขณะนี้
"อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการฯ คนหนึ่งที่ออกเสียงไม่ซื้อเรือดำน้ำนั้นได้บอกในที่ประชุมว่า ลองให้ทหารถอดเครื่องแบบแล้วถามชาวบ้านในต่างจังหวัดจะพบว่า ชาวบ้านไม่ยอมให้ซื้อเรือดำน้ำแน่นอน แต่การลงมติอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กรรมาธิการคนดังกล่าวกลับโหวตให้ซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้น จึงเชื่อว่ามีการล็อบบี้จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่างแน่นอน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลง นายยุทธพงศ์ ได้แสดงเอกสารบันทึกข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือต่อสื่อมวลชน ซึ่งมีการระบุว่าเป็นสัญญาจีทูจี
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่สัญญาจีทูจี แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงและสัญญาที่เซ็นไป เป็นเพียงแค่การจัดซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำ เท่านั้น ไม่มีลำที่ 2 หรือ 3 ไม่มีข้อผูกพันอะไร โดยผู้ที่ลงนามในสัญญานั้น ฝ่ายไทยคือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น ขณะที่ฝ่ายจีนผู้ที่ลงนามคือบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน ซึ่งจุดนี้ จะนำไปสู่หนังม้วนยาว
"ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงปกปิดเอกสารมาโดยตลอด และหากเป็นสัญญาแบบจีทูจีจริง ผู้ที่ลงนามในฐานะฝ่ายไทยก็ไม่มีอำนาจลงนามแทนรัฐบาลไทย เพราะผู้มีอำนาจคือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่างประเทศ"
นอกจากนี้ ยังไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลไทยอีกด้วย รวมถึงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือนั้นก็ไม่สามารถที่จะรับมอบอำนาจได้ คนที่จะรับมอบอำนาจได้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ดังนั้น สัญญาดังกล่าวต้องเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม ในคณะอนุกรรมาธิการฯ นั้น กองทัพเรือไม่สามารถชี้แจงกรณีดังกล่าวได้เลย อ้างแต่เรื่องความมั่นคงทางทะเล ทั้งๆ ที่ความอดอยากของประชาชนในขณะนี้สำคัญกว่าเรือดำน้ำ
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 26 ส.ค. เวลา 13.00 น. คณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่จะให้อนุกรรมาธิการฯ ชี้แจงกรณีเรือดำน้ำ จะเสนอให้กรรมาธิการชุดใหญ่ทบทวนเรื่องนี้ พร้อมทั้งขอให้กองทัพเรือนำหนังสือสัญญามาแสดงด้วย หากแสดงไม่ได้สัญญาจะต้องเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีความโปร่งใส มีความไม่ชอบมาพากล ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ให้ผ่าน จะเสนอให้คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ลงชื่อเป็นรายบุคคลแบบเปิดเผยชื่อ เพื่อดูว่าใครเห็นความสำคัญของเรือดำน้ำมากกว่าความอดอยากของประชาชน และหากโหวตแพ้เสียงส่วนใหญ่ในซีกรัฐบาล จะเดินหน้าฟ้องกับประชาชนต่อไป เพราะเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลอย่างมาก
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เคยประกาศว่า เลือกเรือดำน้ำจีนเพราะได้คุณภาพดีในราคาประหยัด อีกทั้งยังซื้อ 2 แถม 1 นั้น แล้วทำไมวันนี้จึงกลายเป็นว่า ซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ แปลว่าอะไร และหากนายกฯ ยังดึงดันที่จะซื้อเรือดำน้ำ เชื่อว่าจะเป็นจุดจบของรัฐบาล ผมจะเชิญชวนประชาชนให้ออกไปร่วมชุมนุมกับนิสิตนักศึกษาเพื่อขับไล่รัฐบาล และอยากถามนายกฯ ด้วยว่า หัวใจทำด้วยอะไร นายกฯ ไทย หัวใจเรือดำน้ำจีน"นายยุทธพงษ์ กล่าว
จม.เปิดผนึก “ศิษย์เก่า โรงเรียนราชินี” ถึง ครูและศิษย์ปัจจุบัน