วันนี้( 4 ก.ย.63) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีเปิดเผยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องร่วมกระทำผิดกรณีการสอบสวนล้มคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา และเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ให้มีมาตรฐานสากลป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ มีรายละเอียด ระบุ
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาตัวเจ้าพนักงานของรัฐผู้ร่วมกระทำผิดในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบช่วยให้ นายวรยุทธ อยู่วิทยา พ้นจากการถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาขับรถประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายแล้วหลบหนี ซึ่งตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ได้มีการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานคดีนี้เป็นระยะๆ ตลอดมา จนกระทั่งทำให้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง โดยมี ศ.ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธานฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ศ.ดร.วิชา ได้นำผลการตรวจสอบไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนส่วนหนึ่งแล้วนั้น
เนื่องจากการแถลงข่าวประกอบเอกสารที่เผยแพร่ดังกล่าว แม้จะมีการยืนยันถึงการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทนายความ และพนักงานอัยการ ว่าได้ร่วมกันทำเป็นขบวนการ และเสนอให้มีการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรงกับข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องทุกคน
แต่กลับไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนได้ทราบว่า มีใครบ้างเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดที่สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงดังกล่าว และรัฐบาลจะดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ งานสอบสวนและงานพิสูจน์หลักฐานเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้
1.เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ประชาชนได้ทราบว่า บุคคลทั้ง 8 กลุ่ม ที่ถูกระบุว่าร่วมกันกระทำความผิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังกล่าว มีผู้ใดบ้าง แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่อะไรและมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดอาญาหรือวินัยร้ายแรงอย่างไรบ้าง
2.สั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีนี้ และรีบดำเนินการออกหมายเรียกผู้ที่มีหลักฐานการกระทำผิดตามรายงานดังกล่าวเป็นผู้ต้องหา หรือเสนอศาลออกหมายจับ และรีบจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายเหมือนกรณีการดำเนินคดีอาญากับประชาชนผู้กระทำความผิดในคดีต่างๆ สรุปเสนอให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลโดยเร็ว
3.ใช้อำนาจทางการบริหารดำเนินการทางปกครองในเบื้องต้นทันที โดยสั่งให้ผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนออกจากราชการไว้ก่อน หรือพักราชการ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น และเป็นการส่งสัญญาณถึงความเด็ดขาดจริงจังของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
4.เร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจ งานสอบสวน และงานนิติวิทยาศาสตร์ ในเบื้องต้นเพื่อป้องกันการทุจริตบิดเบือนคดีหรือประพฤติมิชอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดย
4.1 นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการสอบสวน ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว
4.2 แก้ปัญหางานนิติวิทยาศาสตร์และการพิสูจน์หลักฐานที่อยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีระบบการปกครองแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหาร ด้วยการทำให้เป็นข้าราชการพลเรือน สร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยตราพระราชกฤษฎีกาโอนสถาบันนิติเวชและสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ไปเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมตามหลักสากลแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมคบคิดช่วย ‘บอส’ เปิดอักษรย่อคนเอี่ยว นับหนึ่งรื้อคดีใหม่
“วิชา”ชงนายกฯรื้อใหม่คดี“บอส อยู่วิทยา” ฟันวินัย-อาญา 8 กลุ่ม
ตำรวจชง 3 ข้อหาให้“อัยการ”สั่งฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”
สำหรับ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) มีผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร กรรมการและเลขาธิการ สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการ ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร กรรมการ สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กรรมการ
โครงสร้างคณะกรรมการ ประกอบด้วย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานที่ปรึกษา สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ที่ปรึกษา ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต ที่ปรึกษา รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ที่ปรึกษา
สำหรับวัตถุประสงค์การก่อตั้ง สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือ
1.เพื่อศึกษา วิจัยปัญหา และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคกัน และเกิดความสงบสุขในสังคม
2.เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม องค์กรภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคสิชาการและวิชาชีพ แบ่งปันข้อมูล ความเห็น ประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างภูมิปัญญา ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และนำไปสู่ปฏิบัติการจริงที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
3.เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ จัดกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผล
4.เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกระบวนการบุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ