ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมสังเกตการณ์การชุมนุม19ก.ย.

17 ก.ย. 2563 | 07:51 น.

6พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงหนุนการแสดงออกในการชุมนุม19ก.ย.นี้ แจงส.ส.ฝ่ายค้าน จะไปสังเกตการณ์การ จี้ มธ.ทบทวนเปิดให้ใช้สถานที่สาธารณะ

ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมสังเกตการณ์การชุมนุม19ก.ย.

 

วันที่ 17 ก.ย. 2563 ที่รัฐสภา หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมออกแถลงการณ์เรื่อง สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

 

นายสมพงษ์ อ่านแถลงการณ์สรุปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เข้าสู่ภาวะวิกฤติจากการบริหารที่ผิดพลาด และสร้างรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดสารพัดปัญหานำไปสู่ทางตันจนนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย. เราจึงออกแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบว่า  1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าการแสดงออกและการเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนภายใต้กรอบกฎหมายเป็นสิทธิเสรีภาพสามารถกระทำได้ รัฐบาลต้องคุ้มครองอำนวยความสะดวก ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการแสดงออกของประชาชน โดยปราศจากการคุกคาม และข้อเรียกร้องต่างๆ รัฐบาลควรต้องนำไปสู่การพิจารณาข้อดี ข้อเสีย เพื่อเป็นการร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมให้กับสังคมไทย 

 

2.ข้อเสนอสำคัญของการชุมนุมคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นผลจากการสืบทอดอำนาจและความต้องการรักษาอำนาจของ คสช. พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส. ส.ว. ผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปลดล็อกประเทศจากทางตัน 

 

3. พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเรียกร้องให้ส.ว. ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. โดยเฉพาะอำนาจในการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 ต้องถูกยกเลิก เราเรียกร้องให้ ส.ว.เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมหาทางออกให้ประเทศ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด เพื่อยุติความขัดแย้งที่นับวันจะขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุด

 

ส่วนวันที่ 19 ก.ย. ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเข้าร่วมในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ นายสมพงษ์ ตอบว่า วันดังกล่าว ส.ส.ฝ่ายค้านจะไปสังเกตการณ์การชุมนุม ในฐานะคณะทำงานของคณะกรรมาธิการ การปกครอง เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ของนักศึกษาจะปราศจากอาวุธ แต่เป็นห่วงว่าผู้มีอำนาจอาจทำให้เกิดปัญหาเอง ส่วนการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันนั้น เห็นว่า สามารถทำได้ และที่ผ่านมานักศึกษาก็ได้พูดกันไปแล้ว
 

ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมสังเกตการณ์การชุมนุม19ก.ย.

 

ายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าเราสนับสนุนการแสดงออกที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย อยากให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองใจกว้าง เพราะประเด็นที่ออกเรียกร้องคืออยากสร้างอนาคตด้วยมือของคนรุ่นใหม่เอง และทุกคนในสังคมควรให้โอกาสถกเถียงเพื่อหาทางออกของสังคมอย่างเต็มที่และอยากให้ช่วยกันทำให้เป็นบรรยากาศที่ดี

 

นายวันมูฮัมหมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาชาติ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ให้ใช้สถานที่ในการแสดงออก ถือเป็นตราบาปของสถาบัน และอยากขอให้ผู้บริหารทบทวนการตัดสินใจ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยไม่ใช่ของผู้บริหารหรือของรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยสำคัญ 16 สถาบันเคยมาชี้แจงกรรมาธิการงบประมาณที่สภาฯ เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆก็ใช้ภาษีของประชาชนเหมือนส่วนราชการอื่นๆตนเคยตั้งคำถามว่า ถ้านักศึกษาประชาชนมีปัญหาจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่หรือไม่ ซึ่งทุกคนโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบตรงกันว่าจะให้ใช้พื้นที่ตอนนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น หากใครอยากได้รายละเอียดสามารถขอเชาวเลขการประชุมไปตรวจสอบได้

 

 

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นายกฯต้องเลือกว่าจะหาทางออกหรือทางตันให้ประเทศ ถ้าจะหาทางออก คือต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าทางตันคือผลักเยาวชนให้ไปอยู่ในโลกโซเชียลอย่างเดียว และถือเป็นการปิดกั้นความคิดของนักศึกษา และเวลาอีก 2-3 วันนี้ยังมีเวลาที่จะเลือกว่าให้ประเทศเดินไปทางไหน ถ้าผลักไปสู่ทางตันบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ จึงขอให้ทุกคนร่วมกันคิดหาอนาคตของประเทศด้วยกัน

 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียกร้องประเด็นสถาบันฯว่า เราอย่าลืมว่าภาวะที่มีบางฝั่งบางฝ่ายเอาประเด็นเรื่องสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ดำเนินมา 10 กว่าปีแล้ว นักเรียน-นักศึกษาได้พูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เพราะเขาเติบโตมาในภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ที่มีการยกเรื่องสถาบันฯเข้ามาโจมตีกัน กระทั่งเป็นเงื่อนไขในการต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลบางชุด

 

 การรัฐประหาร 2 ครั้งก็เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างว่าเข้ามาเพื่อปกป้องสถาบันฯ ตนอยากจะย้ำว่าปัญหาการดึงสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีมานาน และมีหลายฝ่ายเคยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ตักเตือนด้วยความหวังดีตลอดมา ว่าการดึงสถาบันฯเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบนี้ ระวังสุดท้ายจะไปกระทบกระเทือนกับสถาบันฯในที่สุด วันนี้ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้เห็นว่าคำเตือนเหล่านั้นกำลังจะเป็นจริง ความรับผิดชอบในวันนี้ถึงที่สุด ตนเห็นว่าฝ่ายต่างๆที่เคยหยิบยกประเด็นสถาบันฯมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งผู้นำรัฐประหาร ผู้นำกองทัพ ควรที่ต้องรับผิดชอบ ว่าสังคมไทยจะหาทางออกอย่างไรกับปมเงื่อนที่พวกเขาได้ผูกไว้และโตมากขึ้น ไม่ควรโยนให้นักเรียน-นักศึกษาที่เป็นภาพสะท้อนของกลุ่มหนึ่งซึ่งได้สร้างขึ้น