‘บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ป.’ 2 เรื่องราว ดีลลับๆ

29 ก.ย. 2563 | 06:25 น.

‘บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ป.’ 2 เรื่องราว ดีลลับๆ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,614 หน้า 10 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม 2563

 

กลายเป็นข่าว 2 เรื่องราวในเวลาไล่เลี่ยกัน ชวนให้น่าติด ตาม สำหรับเรื่องราวของ “ปิ๊ก ฉ.” กับ “ปิ๊ก ป.” 

 

คนหนึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ส่วนอีกคนเป็น “เสนาบดี” ในรัฐบาลปัจจุบัน

 

ไปดูเรื่องแรกที่มีชื่อของ “ปิ๊ก ฉ.” กับ “ปิ๊ก ป.” เข้าไปเกี่ยวข้อง

 

8 กันยายน 2563 กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น นำโดย นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดขบวนการเรียกเก็บหัวคิวงานขุดลอกแหล่งนํ้าทั่วประเทศ วงเงิน 11,892 ล้านบาท

 

กลุ่มธรรมาภิบาล ระบุว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากประชาชนและผู้ประกอบการที่สุจริตซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในพื้นที่หลายจังหวัด ว่า ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายผลประโยชน์ที่อ้างนักการเมือง และ ฝ่ายผลประโยชน์ที่อ้างชื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นำงานขุดลอกแหล่งนํ้าภายใต้โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและนํ้าท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ กรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 (งบกลาง) วงเงิน 11,892.8711 ล้านบาท  ไปดำเนินการ และขายงานต่อ หรือ จัดหาผู้รับเหมาทั่วไปให้มาซื้องานโดยเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวงานละ 35-50% ตามความยากง่ายในแต่ละโครงการ โดยได้ตรวจสอบข้อมูล เบื้องต้นพบข้อเท็จจริง ดังนี้

 

1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 11,892.8711 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและนํ้าท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทยให้จังหวัดเป็นหน่วยงานรับงบประมาณตามวิธีการงบประมาณและผู้รับผิดชอบโครง การ จำนวน 18,927 โครงการ วงเงินต่อโครงการไม่เกิน 500,000 บาท รวมงบประมาณ 9,957.8355 ล้านบาท

 

โดยทุกโครงการต้องทำสัญญาจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 และ จังหวัดได้มอบอำนาจให้นายอำเภอดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรายโครงการด้วยวิธีพิเศษเป็นการตกลงจ้าง เป็นวิธีการที่ทำให้สามารถจัดหาผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งมาเป็นคู่สัญญากับทางอำเภอได้โดยไม่ต้องประกวดราคา

 

กรณีดังกล่าว ถือเป็นการกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้างที่น่าจะมีเจตนาพิเศษ เพื่อต้องการเปิดช่อง และหรือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายผลประโยชน์ทางการเมือง และ กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นคนของผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหาประโยชน์ในโครงการ โดยการนำผู้ประกอบการที่เป็นพรรคพวก ของตนเอง หรือผู้ประกอบการที่ต้องการทำงาน ได้ทำสัญญา และเรียกเก็บค่าเข้าทำสัญญางาน เป็นการดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม

 

2. ได้มีกลุ่มผลประโยชน์ อ้างตนว่าเป็นฝ่ายการเมืองหลายกลุ่ม และกลุ่มผลประโยชน์ที่อ้างว่าตนเป็นผู้ประสานงานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ กลุ่มคุณนาย อ. (อดีตเคยเป็นผู้นำงานขุดลอกแหล่งนํ้าขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ได้สิทธิพิเศษเป็นคู่สัญญารับจ้างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยไม่ต้องประกวดราคา ภายใต้แนวทางป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยของ คสช. วงเงินงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2558-2560 ไปให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศทำงานต่อจาก อผศ. และเรียกเก็บหัวคิวโครงการละ 30-50%)

 

กลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวได้เข้าไปประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และนายอำเภอหลายอำเภอทั่วประเทศ โดยอ้างชื่อผู้ใหญ่ คือ “บิ๊ก ฉ.” และ “บิ๊ก ป.” เพื่อให้ผู้ว่าฯ  หรือ นายอำเภอในพื้นที่นั้นๆ ดำเนินการเลือกเอาผู้ประกอบการในกลุ่มของตน หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องการทำงานเป็นคู่สัญญา และเรียกเก็บค่าเข้าสัญญาหรือค่าหัวคิวโครงการละ 30-50% ทุกสัญญา 

 

กรณีดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยอาศัยช่องทางการจัดซื้อจัดจ้างรายโครงการโดยวิธีพิเศษ ซึ่งผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอ สามารถตกลงจ้าง และจะจ้างผู้ใดผู้หนึ่งมาทำงานก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่น่าจะไม่เป็นไปตามแบบแผนปฏิบัติที่คุ้มค่าต่อเงินแผ่นดิน

 

 

 

3. โครงการขุดลอกหนองและลำห้วย จำนวน 18,927 โครงการ อาจไม่ใช่โครงการที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เหตุเนื่องจากได้มี การขุดลอกแหล่งนํ้าอยู่เป็นประจำทุกปีงบประมาณในหลายหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว 

 

กรณีนี้จึงน่าจะเป็นความต้องการของฝ่ายผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นอกระบบที่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ที่ต้องการผ่องถ่ายงบประมาณแผ่นดินไปเป็นของตนเองและพรรคพวกผ่านโครงการขุดลอกแหล่งนํ้า และผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐซึ่งอ้างว่าชอบด้วยกฏหมาย เปิดช่องให้กลุ่มผลประโยชน์หาประโยชน์โดยมิชอบจากเงินแผ่นดิน โดยกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ ในลักษณะเป็นการทำธุรกิจเพื่อค้างบประมาณแผ่นดิน โดยนำโครงการขุดลอกแหล่งนํ้ามาเป็นข้ออ้างอิง ทำให้ประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์ประชาชนเสียหายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท

 

 

‘บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ป.’  2 เรื่องราว  ดีลลับๆ

 

 

กลุ่มธรรมาภิบาล ได้มีข้อเสนอถึงนายกฯ ดังนี้

 

1. ให้ตรวจสอบกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และ กลุ่มคุณนาย อ. ว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ “บิ๊ก ฉ.” และ “บิ๊ก ป.” ในการทำสัญญางานขุดลอกแหล่งนํ้าทั่วประเทศและเรียกเก็บหัวคิวผู้ประกอบการหรือไม่อย่างไร และหากพบว่ามีการเชื่อมโยงในการกระทำผิด ให้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยว ข้องจนถึงที่สุดต่อไป

 

2. ให้ตรวจสอบการทำสัญญาขุดลอกแหล่งนํ้าทั่วประเทศ 18,927 โครงการ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหรือมีการนำผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องเข้าเป็นคู่สัญญาเพื่อนำงานไปขายต่อหรือไม่

 

3. ให้ตรวจสอบการขุดลอกแหล่งนํ้าทั่วประเทศ ทั้ง 18,927 โครงการ ว่าได้ดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามแบบ TOR และสัญญาหรือไม่

 

“หากพบมีการกระทำผิดและหรือทุจริตในข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้ท่านยกเลิกโครงการและจัดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่สุจริตทั่วประเทศ ให้มีสิทธิเข้าถึงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมโดยไม่มีผู้ใดมาเรียกเก็บหัวคิว และเป็นการตัดวงจรขบวน การเรียกเก็บหัวคิวขบวนการใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมาในประเทศไทย  เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วย” ข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมาภิบาล

 

 

 

ต้องรอดูว่าจะมีเสียงขานรับจาก “นายกฯ” ต่อเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

 

อีกหนึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “บิ๊ก ฉ.- บิ๊ก ป.” คือ กรณีมีกระแสข่าวว่า “บิ๊ก ป.” ได้มอบหมายให้ “บิ๊ก ฉ.” ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับก๊วนการเมือง เคยร่วมงานกับ พรรคเพื่อไทย และเป็นใหญ่ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมดำเนินการ “ตั้งพรรคสำรอง” แทนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

 

ว่ากันว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน “มิตร” อาจจะกลายเป็น “ศัตรู” ได้ และมีการอ่านเกมการเมือง ลงความเห็นตรงกันว่า “พปชร.” อาจจะใช้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ได้ เพราะแบรนด์ถูกตีตราว่าเป็นพรรคที่ถูกใช้หาผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าทำประโยชน์เพื่อประเทศ

 

ล่าสุด ฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือ “บิ๊กฉิ่ง” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาตอบข้อซักถามถึงกระแสข่าว “2 ป.” มอบหมายให้ตั้งพรรคการเมืองสำรองว่า “ตอนนี้ยังเป็นข้าราชการอยู่ ไม่สามารถที่จะไปทำอะไรแบบนั้นได้ และไม่เคยมีใครมาพูด มาชักชวนแต่อย่างใด หน้าที่ของตนตอนนี้คือ การช่วยเหลือประชาชน การดูแลประชาชนในขอบข่ายงานของกระทรวงมหาดไทย ไม่มีทำเกินหน้าที่…”

 

แน่นอนหละ ...ระหว่างยังเป็น “ข้าราชการ” อยู่ คงไปทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ แต่หลังจากเกษียณราชการในเดือนกันยายนนี้แล้ว เตรียมจับตาการเดิมเกมตั้ง “พรรคสำรอง” ได้เลย...