ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี โพสต์บทความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ต.ค.2563 ว่าด้วยเรื่อง “การบังคับหรือการควบคุมตัวเองกับการชุมนุมทางการเมือง” น่าฟัง น่าคิด น่าตรึกตรองตาม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในเดือนตุลาคมที่กำลังเพิ่มอุณหภูมิขึ้นมาอีกครั้ง
การบังคับหรือการควบคุมตัวเอง กับการชุมนุมทางการเมือง
1. ท่านปัญญานันทภิกขุ (อุปัชฌาย์ของผู้เขียน) ได้เคยสอนเอาไว้ว่า “คนที่ไม่ใจอ่อน มีความเข้มแข็งนั้น ต้องเป็นคนที่รู้จักการเสียสละ (จาคะ) คือ เสียสละที่จะไม่ตามใจกิเลส คืออะไรที่เห็นว่า ไม่ดีไม่เอา ไม่ถูกไม่เอา ไม่เป็นประโยชน์ไม่เอา ทำให้คนอื่นเสียหายไม่เอา” ซึ่งก็คือความหมายของคำว่า “เสียสละ” หรือ “จาคะ” ในภาษาธรรมนั่นเอง
2. แต่ความเสียสละ (จาคะ) นี้จะมีไม่ได้ ถ้าหากเราไม่มีความอดกลั้นที่เรียกว่า “ขันติ” ความอดกลั้นจึงเป็นเบื้องต้นของความเสียสละ เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะคล้อยตามความรู้สึกอยากทำสิ่งที่เป็นของ “ต่ำ” เพราะสิ่งที่ไม่ดีนั้นมันทำง่าย เช่น ความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีพื้นฐานมาจากวิญญาณของสัตว์ที่สิงอยู่ในตัวเราดังกล่าวข้างต้น มีแต่ความอดกลั้น (ขันติ) เท่านั้นที่จะเอาชนะมันได้ เมื่อใดมีความรู้สึกโลภ โกรธ หลง ก็ต้องใช้ความอดกลั้น (ขันติ) ไม่ไปทำอะไรตามใจความรู้สึกนั้นๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกการไม่ทำตามใจความรู้สึกนี้ว่า “การทำอตัมมยตา” ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้แปลคำนี้เป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “กูไม่เอาด้วยกับมึง” ซึ่งเราจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมีความอดกลั้นที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เพราะเป็นการต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำที่จะดึงเราให้ลงต่ำ ถ้าเราไม่มีความอดกลั้นสูงก็จะต้านทานมันยากหรือต้านทานไม่สำเร็จ
3. แต่ความอดกลั้น (ขันติ) นั้นอาจจะไม่สามารถคงสภาพได้นาน อาจทำได้เพียงชั่วคราวแล้วก็พ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ ตัว“ขันติ”ก็จะอยู่ได้เพียงชั่วคราวถ้าจะให้มันอยู่ถาวรหรือยาวนานขึ้น เราต้องมีธรรมะอีกข้อหนึ่งไว้ควบคุมจิตของตัวเองตลอดเวลา ธรรมะข้อนั้นเรียกว่า “การควบคุมตัวเอง” หรือ “ทมะ” ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมมิให้ความอดกลั้น(ขันติ) หายไปได้ง่ายๆ กล่าวคือ เราต้องบังคับจิตของเราให้อยู่ในภาวะที่สม่ำเสมอหรือก็คือการควบคุมจิตของตนไม่ยอมให้ “ขันติ” หลุดไปจากจิต เพื่อป้องกันมิให้จิตไหลไปทางต่ำตามอำนาจของกิเลสแห่งเดรัจฉาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม็อบ 14 ตุลาฯ“คณะราษฎร 2563”ประกาศชุมนุมยืดเยื้อ
“ธนาธร”ยันคณะก้าวหน้าร่วม”ม็อบ14 ต.ค.”แต่ไม่ขึ้นเวที
รัฐบาล ค้านข้อเรียกร้อง "คณะราษฎร" ปม "ปฎิรูปสถาบัน"
4. การที่เราจะสามารถควบคุมตัวเองให้ได้ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 3. นั้น ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุได้แนะนำไว้ว่า เราต้องใช้หลายอย่างมาเป็นเครื่องมือซึ่งผมจะใช้ ภาษาคน อธิบายดังต่อไปนี้
1)ให้เอาศีลธรรมของศาสดาต่าง ๆ มาบังคับใจตน ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนก็ให้เอาหลักศีลธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้บังคับตน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นศาสนิกชนที่มี “สัจจะ” ต่อพระศาสดาของเรา (หรือต่อพระเจ้าของเรา) เพราะหลักศีลธรรมของทุกศาสนาล้วนเป็นของดี เช่น หลักศีลหลักธรรมของพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธนั้นสามารถใช้เป็นหลักประกันอันมั่นคงในการใช้ดำเนินชีวิตให้อยู่ในทำนองคลองธรรม สามารถป้องกันมิให้กระทำชั่วทั้ง 3 ทาง คือ จะไม่ให้มีกายทุจริต มโนทุจริต และวาจาทุจริต (คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชน ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่พูดเหลวไหล เพ้อเจ้อ แบบพูดตามมโนของตนเองทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานและไม่มีหลักเกณฑ์)
2)เอาจารีตประเพณีมาใช้บังคับตัวเอง เช่น จารีตประเพณีที่ยึดถือสืบทอดกันมาแต่โบราณกาลว่าทำอย่างนั้นไม่ได้หรือไม่ควรทำ เราก็ต้องบังคับตนเองมิให้ทำเช่นนั้น (อย่างน้อยที่สุดถ้าเราไม่ทำตามเพราะไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรไปเยาะเย้ยถากถางผู้อื่นที่เขาทำตาม กล่าวคือ เราอย่าไปย่ำยีคุกคามเสรีภาพของคนอื่นเขาในเรื่องนี้ จึงจะเรียกว่าเรามีใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง) ยกตัวอย่าง เช่น จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณกาลนั้น เราจะให้ความเคารพนับถือแก่ผู้ที่อาวุโส เพราะเราเห็นว่าท่านได้ผ่านโลกมามากกว่าเรา
ท่านได้ช่วยสร้างรายได้ประชาชาติ (GDP) มาให้เราได้บริโภคในตอนที่เรายังไม่มีความสามารถสร้างอะไรๆ ให้กับ GDP ได้เลย เราจึงเป็นหนี้บุญคุณท่านอาวุโสทั้งหลาย เราควรให้ความนับถือท่าน ผู้อาวุโสเองก็จะให้ความรักความเมตตาแก่ผู้เยาว์ พร้อมจะให้อภัยเมื่อพวกเขาทำผิดพลาดเพราะอ่อนประสบการณ์และพร้อมจะให้คำแนะนำชี้ทางสว่างให้กับพวกเขา นี่คือจารีตประเพณีของประเทศไทย ประเทศทางตะวันตกที่เราเห็นว่าเขาเจริญกว่าเรานั้นมักจะไม่มีจารีตประเพณีอันนี้ เพราะเขาวัดค่าของคนกันด้วยจำนวนเงินในธนาคารว่าใครมีมากกว่า ผู้มีน้อยกว่าก็จะนับถือผู้ที่มีมากกว่า แม้ว่าฝ่ายหลังจะมีอาวุโสต่ำกว่าฝ่ายแรกก็ตาม เราไม่ควรเอาจารีตประเพณีของชาติอื่นๆ เช่นนี้มาใช้ในสังคมไทยถ้ายังอยากอยู่ร่วมกับคนไทยในสังคมไทยๆ มิฉะนั้นเราจะอยู่ยาก จะมีชีวิตในสังคมอย่างสันติสุขและมีความเจริญย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
3)เอากฎหมายมาใช้บังคับ “จิต” ถ้ากฎหมายเขาห้ามก็ต้องถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเขาห้ามเพราะกฎหมายบัญญัติโดยรัฐสภาที่ประกอบด้วยผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศเป็นผู้เลือกเข้าไป (แม้อาจจะไม่ใช่ทุกฉบับก็ตาม) ถ้าเราไม่เกรงกลัวกฎหมาย กล้าฝ่าฝืนในสิ่งที่กฎหมายห้าม คุกตาราง และความตกต่ำแห่งชีวิตก็จะคืบคลานเข้ามาหาเราในที่สุด
5. ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุได้กล่าวไว้ว่า “ให้หัดบังคับตัวเองไว้บ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนมีระเบียบวินัยเป็นฐานของชาติของประเทศของความเจริญก้าวหน้า คนขาดระเบียบวินัยแล้วจะทำอะไรได้ สังคมใดไม่มีวินัย สังคมนั้นอ่อนแอ จะสร้างชาติสร้างประเทศให้ก้าวหน้าได้ยาก”
“มีลูกมีหลานต้องสอนให้บังคับตัวเองไม่ให้ทำอะไรตามใจตัว ตามใจอยาก คอยสอนคอยเตือนเขาไว้ว่า อันนั้นไม่ดี ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร อย่าได้กระทำเช่นนั้น เด็กนั้นก็จะเคยชินกับการบังคับตัวเอง”
ถ้าลูกจะไปชุมนุมทางการเมืองก็ควรเอาหลักทั้ง 3 ข้อของท่านปัญญานันทภิกขุอบรมเขาเสียก่อน เขาจะได้มีสติไม่ไปแห่ตามผู้นำการชุมนุมบางคนที่ไม่มีธรรมะหรือพ่อแม่มิได้อบรมเอาไว้
อย่าปล่อยให้ใครเขามาด่าว่าลูกเราว่าเป็น “อ้ายลูกหรืออีลูกที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ประโยคสุดท้ายนี้ผมเป็นคนพูดเองนะครับ ไม่ใช่คำพูดของท่านปัญญานันทภิกขุหรือของท่านพุทธทาสภิกขุ อย่าเข้าใจสับสนนะครับ ขอให้ธรรมะคุ้มครองทุกท่านให้มีแต่ความสุขความเจริญครับผม/ สวัสดี.
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
9 ตุลาคม 2563