วันที่ 15 ตุลาคม 2563 หลังปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ "สลายการชุมนุม" ของม็อบ 14 ตุลา หรือ กลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา
ล่าสุด พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า
ตามที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนในนามของ “คณะราษฎร 2563” ได้จัดการชุมนุมขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนขบวนมาตามถนนราชดำเนิน จนกระทั่ง ได้รวมตัวกันชุมนุมบริเวณโดยรอบของทำเนียบรัฐบาล
ตลอดระยะเวลาการชุมนุมจะเห็นได้ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมและขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับภูมิลำเนาในเวลา 06.00 น. ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมก็มิได้มีการก่อความวุ่นวายหรือกระทำการใดอันเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในราชอาณาจักร
แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต่อมาไม่นานเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าสลายการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 และจับกุมผู้ร่วมชุมนุมไปจำนวนมากนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่
นายกฯ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ในพื้นที่กทม.
“ก้าวไกล” ออกแถลงการณ์ “ชาติ คือ ประชาชน”
พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงไม่ได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค ทั้งข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรม กล่าวคือ
1. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะต้องมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีสถานการณ์ใดที่จะเข้าเหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใดๆ เลย
2. ข้ออ้างที่ว่า มีการปลุกระดมให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนั้น คงหมายถึงการไม่ได้ขออนุญาตจัดชุมนุมและการชุมนุมในบริเวณทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้ามเท่านั้น หากจะมีความผิดก็เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายปกติ ซึ่งมีกำหนดโทษเล็กน้อย และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติของการจัดชุมนุม และการจัดชุมนุมก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีการกระทำใดที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือประชาชน อีกทั้งได้มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว
3. ข้ออ้างเรื่องผลกระทบต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการชุมนุมได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ผู้ชุมนุมแต่ละคนต่างก็ป้องกันตนเอง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จากในที่ชุมนุม หากจะใช้มาตรการบังคับก็มีกฎหมายควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว
4. การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไร ก็ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมและเป็นไปโดยไม่สุจริต และเกินสมควรแก่เหตุ เพราะผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว เพียงแต่เป็นเวลาวิกาลจึงนอนพักเพื่อรอรุ่งสางก็จะแยกย้ายกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงการณ์เรียกร้องมายังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ ของรัฐให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และหยุดการใช้อำนาจคุกคามประชาชน ในทุกรูปแบบ และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทันที
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
15 ตุลาคม 2563