นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ท่ามกลางบรรยากาศของความเห็นต่าง รัฐบาลรับทราบความคิดเห็นของทุกฝ่าย และมีความตั้งใจที่จะหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คาดว่าจะมีในกลางเดือนพ.ย.
พร้อมกันไปกับการคลี่คลายปัญหาทางการเมือง รัฐบาลได้บริหารราชการโดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โครงการระยะยาวจำนวนมากได้เริ่มต้นไปแล้วและมีความจำเป็นต้องได้รับการสานต่อ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนไทยจะสามารถหาทางออกร่วมกัน รับทราบสิ่งดีๆที่เป็นโอกาสของประเทศ และหันมาร่วมมือกันทำให้โอกาสนั้นเกิดเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง
"จากสถานการณ์ความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้น รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้เวทีรัฐสภาเป็นกลไกในการคลี่คลายสถานการณ์ โดยพร้อมรับฟังข้อมูลและความเห็นจากผู้แทนทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนมาก"
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาทางการเมือง รัฐบาลได้ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 และให้ประเทศเดินหน้าต่อได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินจากIMF ที่เห็นว่าไทยมีการหดตัวทางเศรษฐกิจลดน้อยกว่าเดิมจากที่คาดไว้เมื่อกลางปีที่ติดลบ7.7% เป็น ติดลบ 7.1% และยอดการส่งออกสินค้าไทยเดือนก.ย. ก็หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามแล้ว
มากไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่เชื่อว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางการค้าและการลงทุนหลังผ่านช่วงโควิด19 อย่างแน่นอน อาทิ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวม เงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน(SEC) ที่เดินหน้าแล้วเรื่องการพัฒนาท่าอากาศยาน ท่าคือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกลุ่มประเทศเอเซียใต้ ที่มีประชากรกว่า 1.5 พันล้านคน
สำหรับด้านการขยายตลาดต่างประเทศ รัฐบาลได้เป็นตัวกลางจับคู่ผู้ประกอบการไทย-ต่างประเทศ พาสินค้าเกษตรไทยขึ้นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนและอินเดีย และล่าสุดได้มีการตกลงที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับรัสเซีย เพื่อผลักดันการเพิ่มมูลค่าการค้า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ได้ในอีกสามปีข้างหน้า
นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด19 เพื่อประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้เพียงพอและทันกับประเทศอื่นๆ รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน
มากไปกว่านั้นนโยบายบายประกันรายได้เกษตรกร ที่สร้างความแน่นอนเรื่องรายได้แก่เกษตรกร 7.3 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยและเดินหน้าต่อในะรอบปีการผลิต 63/64