คดีที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพวก ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช) ชี้มูลกรณีทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษาที่ 2 จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.) พิจารณาสั่งฟ้อง ก่อนจะมาถึงขั้นตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช. และคณะทำงานอัยการ พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีร่วมกันนั้น
ล่าสุดวันนี้ (27 พ.ย.63) ที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด ได้ประชุมและเห็นพ้องร่วมกันแล้ว โดยได้แจ้งคำสั่งฟ้องของ อสส.ให้นายวิรัช รับทราบ โดยอัยการจะใช้เวลาเพื่อร่างคำฟ้องว ประมาณ 60 วัน ก่อนจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
สำหรับคดีทุจริตงบสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา เกิดขึ้นในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 ขณะที่นายวิรัช สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด นายวิรัช พร้อมด้วยส.ส.พลังประชารัฐ 2 คือ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ภรรยานายวิรัช) และ ทัศนาพร เกษเมธีการุณ (น้องสาวทัศนียา) ส.ส.นครราชสีมา เขต 8 และพวกรวม 24 ราย
มีความผิดกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณ เพื่อทำการก่อสร้างสนามฟุตซอล ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพฐ.) ในจังหวัดนครราชสีมา นายวิรัช และ นางทัศนียา มีมูลความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 และมีมูลความผิดอาญาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนทัศนาพร มีมูลความผิดอาญาตาม พ.ร.ป. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการโดยทุจริต
เริ่มจากขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวม 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล
รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์ โดยมีการชี้มูลการกระทำผิด 7 สำนวน อสส.มีคำสั่งฟ้องในวันนี้ 1 สำนวน ส่วนอีก 6 สำนวนที่เหลือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส.
เปิดผู้ต้องหา 3 กลุ่ม 24 ราย
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหา 24 ราย ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ข้าราชการ 11 ราย เอกชน 10 ราย (บุคคลธรรมดา 7 ราย นิติบุคคล 3 ราย) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ประสานงาน จำนวน 6 ราย คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง นางสาวกุลธิดา วีรตานนท์ นายประภัสร์ ลิมานันท์ และ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ
2. กลุ่มข้าราชการ 9 ราย คือ นายชินภัทร ภูมิรัตน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายรังสรรค์ มณีเล็ก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักนโยบายและแผน สพฐ. นายประยงค์ ตั้งเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผอ.ส่วนการงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ นายนิเวศน์ อุดมรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมาเขต 2
นายวิโรจน์ เลิศพงษ์ ผอ.ร.ร.บ้านพระพุทธ นายอนันต์ สุวรรณะ ผอ.ร.ร.บ้านตูม ราษฎร์บูรณะ นายทองอินทร์ ไปเจอะ ผอ.ร.ร.บ้านหนองพลอง นางสาวพูนพิสมัย เปี่ยมสุวรรณ ผอ.ร.ร.บ้านหัวทำนบ และ นางสาวอ้อย สงึมรัมย์ ผอ.ร.ร. นวัดหนองนา
3. กลุ่มเอกชน 9 ราย คือ นางสาวเบญจพันธ์ บุญบงการ และบริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด นายยี พณิชยา นายมานัส ชาวนา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัท วอเตอร์ ฮีล แลนด์ จำกัด นางสาวฐิติรัตน์ ทันหาบุรุษ นางสาวรัตนา มงคลสกุล นายวิธิวัสส์ ภูชัสส์วุฒิกุล
ส่วนกรณีที่มีความสงสัยกันว่า นายวิรัช จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนี้หรือไม่ มีรายงานว่า ต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 81 ประกอบข้อบังคับประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฎีกาจะเป็นผู้พิจารณาเมื่อประทับรับฟ้อง
ดังนั้น ต้องรอความเห็นดังกล่าวจากศาลฯ ว่า นายวิรัช จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีอยู่ปัจจุบันนี้หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังเป็นประเด็นข้อกฎหมายอยู่พอสมควรว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวของป.ป.ช.ในตอนนั้นเป็นการดำรงตำแหน่งคนละสมัยกับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องแล้ว ในกฎหมายก็ระบุด้วยว่า ถ้าศาลประทับรับฟ้องก็ต้อง มีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ฉะนั้นจะต้องรอฟังคำสั่งของศาล ซึ่งเมื่อศาลสั่ง ย่อมมีผลให้หยุดทันที ตั้งแต่วันที่ประทับรับฟ้อง
ด้านนายวิรัช กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่มีปัญหา ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนขอปฏิเสธไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการใช้งบประมาณ โดยจะชี้แจงข้อเท็จจริง รวมไปถึงแนวทางการสู้คดีในเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้หากศาลตัดสินให้ นายวิรัช และพวก มีความผิด นอกจากจะมีโทษจำคุกแล้ว ยังมีโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วแต่ศาลกำหนดหรือไม่ก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"วิรัช"ลั่นพร้อมสู้คดีทุจริตสนามฟุตซอล หลังมติ"ป.ป.ช.-อสส"สั่งฟ้อง