ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 8 พรรค ขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 ราย ถึงมือนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นพรรคร่วมรัฐบาลจัดสรรเวลาตามกรอบเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2563 คือ 52 ชั่วโมง ให้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 26 ชั่วโมง รัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล 24 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นเวลาของประธานและรองประธานสภาฯ กำหนดการอภิปรายเป็นวันที่ 16-19 ก.พ. และลงมติวันที่ 20 ก.พ. 64
“ฐานเศรษฐกิจ” ร่อนตะแกงญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วย 9 รัฐมนตรี มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ขอเริ่มที่ “กลุ่ม 3 ป.” ศึกซักฟอกรอบนี้ยังคงถูกอภิปรายกันถ้วนหน้า โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกเพ่งเล็งโจมตีเรื่องของการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผิดพลาดล้มเหลว เลยไปถึงเรื่องของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 รวมถึงประเด็นร้อนการจัดการบ่อนการพนัน และประเด็นการใช้มาตรา 44 ผิดพลาดเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนภาคธุรกิจ, การแก้ไขปัญหาแก้เศรษฐกิจล้มเหลว รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อเรือน้ำ ที่รอบนี้ฝ่ายค้านก็ยังนำมาย้ำปมอีกเช่นเคย
ขณะที่ “พี่ใหญ่” บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกย้ำปมถล่มซ้ำเรื่องของ นาฬิกายืมเพื่อน และการโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่ตั้งกรรมการสอบ
ส่วน บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถูกโยงไปที่เรื่องของการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว พ่วงประเด็นนำเข้าขยะจากต่างประเทศที่เชื่อมโยงกับคนใกล้ชิด แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง และปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับเกิดการทุจริต
รอบนี้ชื่อของ หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ติดมาในลิสต์ จ่อถูกถล่มเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาดล้มเหลว เลยมาถึงเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19
เช่นเดียวกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมรับมือถูกล็อกเป้าอภิปรายเรื่องการทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และปมการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าดำรงตำแหน่ง
ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรพลังประชารัฐ คราวนี้เตรียมถูกอัดจากฝ่ายค้านเรื่องการแก้ไขระบบการศึกษาที่ยังล้มเหลวและมีการแทรกแซงข้าราชการประจำพ่วงอีกเรื่อง
หันมาที่ “จับกัง 1” นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องลุ้นระทึกกับการถูกอภิปรายเรื่องการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ผิดพลาดจนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ระลอก 2 ในไทย ปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
เรื่องของรถไฟฟ้าหลากสี ต้องยกให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ยังต้องตอบคำถามและข้อกังขามากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม การคัดค้านการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อด้วยเรื่องการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายที่วันนี้ยังมีปัญหา รวมไปถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในธุรกิจดิวตี้ฟรี เงื่อนปมข้อสงสัยที่ฝ่ายค้านพร้อมถล่ม
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จ่อถูกอภิปรายเรื่องเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ประชาชนในพื้นที่ก่อม็อบคัดค้าน รวมถึงปมร้อนกรณีการละเว้นไม่อนุมัติจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางให้บริษัทเอกชน สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ซึ่งคดีอยู่ใน ป.ป.ช.
สุดท้าย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมถูกถล่มเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินที่ส่อเป็นเท็จ, ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี กรณีมีปัญหาเรื่องยาเสพติดในต่างประเทศซึ่งมีคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอยู่ในขณะนี้ รวมถึงเรื่องของการแก้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. ขณะที่คอการเมืองจับจ้องไปที่กรณีการแต่งตั้ง ภรรยา คือ ธนพร ศรีวิราช ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกฯว่า มีความเหมาะสมหรือไม่
ฟากฝั่งรัฐบาลล่าสุดจัดตั้งทีม “วอร์รูม” พร้อมรับศึกเพื่อให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายสามารถชี้แจงได้ทันท่วงทีโดย คาดการณ์ว่า นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่เก็งข้อสอบ ดูแล สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมซึ่งจะประชุมหารือและแบ่งหน้าที่ร่วมกันในวันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชวน" เซ็นบรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้ใจแล้ว
"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เปิดซักฟอก 10 รมต. "3 ป." มาครบ