19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สภาฯ การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในกรณีที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาพรรคก้าวไกล กล่าวหานายกรัฐมนตรีและกองทัพฯ เรื่องปฏิบัติการข่าวสารหรือ ไอโอ และการใช้สื่อในสังกัดเป็นเครื่องมือ คุกคามโจมตีฝ่ายตรงข้ามและประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาล
โดยพลเอกชัยชาญ กล่าวว่ายืนยันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีนโยบายหรือสั่งการใดๆให้หน่วยงานหรือทหารใด ในลักษณะไปให้ร้ายบุคคลตามที่กล่าว แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันในโซเชียล มีข้อความที่ไม่ถูกต้อง เป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดความแตกแยก มีผลกระทบต่อสถาบัน ความสงบ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นี่มีอยู่จริงและมีอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันมีมากขึ้น
ท่าน (ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ) กล่าวว่าทหารไปให้ร้ายประชาชน แต่สิ่งที่กองทัพทำก็คือ ทำอย่างไรให้ทหารได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ถึงความพัฒนาทางเทคโนโลยี่ ให้ติดตามสื่อต่าง ๆได้อย่างเท่าทัน มีสติ การพิจารณาที่ถูกต้อง ข้อความต่างๆในโซเชียลเป็นจริงหรือไม่ จะพูดอะไร หรือส่งต่อ ต้องใช้วิจารญาณ เพราะมีผลกระทบต่อความมั่นคง ดังที่กล่าว สิ่งต่างๆเป็นที่มา ให้มีการจัดการอบรม ให้ความรู้กับกำลังพลได้เข้าใจ ถึงวิธีการที่จะใช้สื่อโซเชียลอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างสร้างสรรค์
"บัญชีไม่มีการปิด ถ้าปิดท่านเองก็คงไม่มีรายชื่อ ดังนั้นไม่ได้ทำเพื่อไปให้ร้ายใครอย่างไร ท่านโยงไปโยงมา กล่าวเหมือนกับว่าท่านมีความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในการทำมากกว่ากองทัพเสียอีก การกล่าวถึงฝ่ายขาว ฝายดำ ฝ่ายตรงข้าม อันนั้นเป็นลักษณะวิธีการของการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติการนั่นเอง เป็นการนำทหารให้สร้างความเข้าใจว่า วิธีการในการดำเนินการอย่างไร มิได้หมายความว่า ฝ่ายตรงข้ามคือประชาชนทั่วไป "
ส่วนโครงการจิตอาสาพระราชทาน ก็เช่นเดียวกัน มีการแสดงตัวตนที่ชัดเจน ความมุ่งประสงค์ของโครงการนี้ก็คือ ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของประวัติศาสตร์ สถาบัน เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการที่จะพัฒนา ถ้าได้ติดตามคงเห็น
พลเอกชัยชาญ ย้ำว่าการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงที่กองทัพได้ดำเนินการตามนั้น เป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ เรื่องการให้ความรู้ ให้ประชาชนรับรู้ว่ากองทัพทำอะไร มีภาระกิจแล้วทำอย่างไร ในส่วนเรื่องวิดีทัศน์ที่ท่านมาฉายนั้น ผมก็เพิ่งเห็นและไม่ทราบจะชี้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ ทหารเองก็เป็นประชาชน ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไปใช้ข้อมูลอย่างมีวิจารญาณที่ดี
ส่วนการกล่าวถึงกรมประชาสัมพันธ์ หรือ สื่อ MCOT (อสมท.) ก็เป็นลักษณะของการที่จะประชาสัมพันธ์ผลงาน เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนได้เห็น แต่ตรงนี้ก็อยู่ที่ผู้จัดรายการที่จะดำเนินการ ในการให้ความรู้ ข้อมูลกับประชาชน และถ้าไปดูในสื่อต่างๆ ก็มีลักษณะนี้เช่นกัน เป็นการรับรู้ถึงข้อมูลในหลายๆด้านด้วยซ้ำไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯกลาโหม กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ยืนยันว่าท่านรัฐมนตรีกลาโหม ไม่มีนโยบายหรือสั่งการใดๆที่จะให้ หน่วยต่างๆ หรือเฉพาะหน่วยกองทัพนั้น ไปทำอะไรที่ใส่ร้ายประชาชน ที่จะให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง แตกแยก สิ่งต่าง ๆที่ทำคือจะทำอย่างไรให้ ประชาชนได้รับทราบผลงาน และได้รับทราบสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและเพื่อไม่เกิดความเกลียดชังขึ้นในสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ก้าวไกล” ขยี้ประเด็น IO หมดเวลานายกฯ “ไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่มี-ไม่ใช่”
ข้อเท็จจริงไอโอ(IO) ปฏิบัติการข่าวสาร ในมุมกองทัพคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ทบ.ยัน ไร้จ้างเอกชนทำ IO แจง เอกสารทำทวิตเตอร์ว่อนโซเชียลเป็นแค่งานพัฒนาสื่อออนไลน์