จากกรณีวันนี้ 24 ก.พ.2564 ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำพิพากษา คดีกลุ่มกบฏ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และ พวกรวม 39 คน เป็นจำเลย ความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
จาการชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป บุกยึดสถานที่ราชการ ปิดกรุงเทพมหานคร (Shutdown Bangkok) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด
โดยศาลได้พิพากษาจำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 จำคุก5 ปี,นายชุมพล จำเลยที่ 3 จำคุก 9 ปี 24 เดือน,นายพุทธิพงษ์ จำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี,นายอิสสระ จำเลยที่ 5 จำคุก 7 ปี 16 เดือน,นายวิทยา จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท,นายถาวร จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี,นายณัฏฐพล จำเลยที่ 8 จำคุก 6 ปี 16 เดือน,นายเอกนัฏ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาทและ นายสุวิทย์ จำเลยที่ 16 จำคุก 4 ปี 8 เดือน ฯ
ทั้งนี้ มีผลทำให้ จำเลย 3 ราย ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ต้องหลุดจากความเป็นรัฐมนตรีทันที ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 160
สำหรับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นั้น ถือเป็นนักการเมืองที่มาแรงแซงโค้งมากคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ และถูกจับตามองมากที่สุด หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกเปรียบเป็น 'เผือกร้อน' ต้องแก้สารพัดปัญหาในกระทรวง โดยเฉพาะ การบริหารจัดการ “ระบบการศึกษา” ทั่วประเทศ เพื่อรองรับกับการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยระบบออนไลน์ เรื่อยไปจนถึง การถูกกลุ่มนักเรียนเลว ต่อต้านขับไล่ให้ออกจากตำแหน่ง และกรณีล่าสุด ดราม่าการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนเพียง 1 บาท เป็น 21 บาท/คน/วัน
นายณัฏฐพล เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ณ บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ มีชื่อเล่นว่า "ตั้น" เป็นบุตรของ วีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง,บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต,บมจ.ศรีอยุธยาประกันภัย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา และจันทิมา ทีปสุวรรณ
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางทยา ทีปสุวรรณ นักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน (สกุลเดิม "ศรีวิกรม์" ) ซึ่งบิดา-มารดาของนางทยา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อุตสาหกรรมพรมไทย หรือ "พรมไทปิง" และ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์) มีบุตรธิดาด้วยกันรวม 3 คน คือ ณฤทัย ทีปสุวรรณ นรุตม์ ทีปสุวรรณ และ นฤพล ทีปสุวรรณ
นายณัฎฐพล ผันตัวเองเข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ปี 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 4 ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อม ปี 2552 นายณัฏฐพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 10 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง บางขุนเทียน บางบอน) ได้รับคะแนนมากกว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับ เมื่อปี 2554 ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 26 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ) ก็ได้คะแนน 46,910 คะแนน เอาชนะ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
11 พฤศจิกายน ปี 2557 นายณัฏฐพล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเข้าเป็นแกนนำการชุมนุมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ร่วมกับนายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายสกลธี ภัททิยกุล
ซึ่งภายหลัง ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา ซึ่งนายณัฏฐพลและพวกก็ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม โดยศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว
ถัดมา 29 กันยายน ปี 2561 นายณัฏฐพลได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค และเมื่อปี 2562 นายณัฏฐพลเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนฐานะความมั่งคั่ง จากข้อมูลที่เคยแจ้งต่อป.ป.ช.นั้น รวมของนายณัฏฐพล และนางทยา มีทรัพย์สินประมาณ 779.77 ล้านบาท มีหนี้สิน 13.36 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :