นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เนชั่นทีวี ช่อง 22” พูดถึงการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
O ประเมินสถานการณ์การชุมนุมของเครือข่ายกลุ่มราษฎรอย่างไร?
คนไทยห่วงสถานการณ์ ไม่อยากเห็นอะไรที่รุนแรงเกิดกับประเทศ แม้อาจจะมีบางกลุ่มอยากเห็นสงครามกลางเมือง แต่คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากเห็น
O ม็อบไม่มีแกนนำ เป็นปัญหาหรือไม่?
ม็อบต้องมีผู้บริหาร มีการจัดการที่ดี แต่ม็อบสมัยนี้ล้ำหน้า แบบของรุ่นผมตกยุคไปแล้ว สมัยนี้พึ่งเทคโนโลยี พึ่งดิจิทัลเทคโนโลยี ส่วนรุ่นผมเป็นม็อบแบบอนาล็อก ผมนัดชุมนุมทีต้องประกาศล่วงหน้าเป็น 10 วัน อย่างจะนัดชุมนุมวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ต้องโฆษณาล่วงหน้า 9-10 วัน แต่วันนี้นัดในมือถือ มันง่าย พอถึงหน้างานก็ดูโทรศัพท์ ไม่เห็นแกนนำ อาจจะมีผู้ปฏิบัติงานระดับล่างเป็นคนเดินจริงอยู่บ้าง ซึ่งพวกนี้เป็นพวกที่ต้องรับความเสี่ยง
O คนบริหารจัดการมีเป้าหมายอะไร?
เขาก็คงวางแผนไว้ว่าจะให้เกิดอะไรขึ้น แต่คนไทยไม่ต้องการเห็นการนองเลือด หรือความแตกแยกรุนแรงในบ้านเมือง ฉะนั้นโอกาสที่การเคลื่อนไหวแบบนี้จะได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มาก เป็นเรื่องยาก
ฉะนั้นคนบริหารจัดการชุมนุมต้องระวังระวัง ตำรวจต้องระมัดระวัง อย่าให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลคงต้องเหนื่อยหน่อย ประชาชนฟังแล้วก็อย่าวูบวาบ ขอให้ตั้งสติให้ดี
O เรื่องรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่?
เรื่องรัฐธรรมนูญมีบางคนพยายามให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ประชาชนทั่วไปที่คิดแบบผมมองว่าไม่ใหญ่ ประชาชนคิดว่าเราจะผ่านวิกฤติโควิดไปได้อย่างไรมากกว่า เพราะวิกฤติโควิดเที่ยวนี้กระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงมาก ฉะนั้นประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ
O อยากให้ถอดบทเรียน 204 วันของม็อบ กปปส.
ผมคงพูดเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้ที่สนใจ คงไม่ได้พูดเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เพราะยังต้องต่อสู้คดีอยู่
จุดเริ่มต้นของ กปปส.ในวันนั้น บ้านเมืองไม่เห็นทางออกอื่น จึงต้องใช้พลังของประชาชนมายับยั้งผู้มีอำนาจในแผ่นดิน โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ทำอย่างไรจึงจะหยุดได้ เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจไม่หยุด แถมยังท้าทาย จึงยากที่จะใช้วิธีปกติ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม อย่างทุจริตจำนำข้าวที่เสียหายมากกว่า 7-8 แสนล้านบาท มีการโยกย้ายข้าราขการโดยใช้เส้นสายพวกพ้อง เอาญาติมาเป็น ผบ.ตร. ด้วยการย้ายคนเก่าไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงต้องย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงฯไปอีกคนหนึ่ง นี่คือความอันตราย ปล่อยเอาไว้บ้านเมืองไปไม่ได้ และต้องมีการปฏิรูปประเทศ
จุดสำคัญของการเคลื่อนไหวไม่ใช่แกนนำคิดอย่างไร แต่เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ในประเทศว่าคิดอย่างไร
สิ่งที่เป็นห่วงของการทำม็อบ คือการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เพราะเมื่ออยู่ในคนหมู่มาก การควบคุมย่อมไม่ทั่วถึงทุกฝ่ายทุกคน บางเรื่องเหนือการควบคุมของเรา คนจัดชุมนุมต้องรู้ ทุกวันมีค่าใช้จ่าย ต้องนอนกลางดิน กินข้างถนน แม้จะทุกข์แต่ก็ยังอบอุ่นเพราะยังมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องสู้คดีเป็นเรื่องทุกข์กว่า เพราะกว่าจะคดีจะเดินหน้าก็หลังจากผ่านมาหลายปีแล้ว คนที่สู้มีแต่เรา เหลือแต่เรา
สุดท้ายผมก็เข้าคุกมาแล้ว 3 วัน 2 คืน ผมเองก็รู้สึกสะท้อนใจที่เห็นน้องๆ โดนจำคุก บางคนตอนเช้ายังมีตำรวจตามอยู่เลย พอตกค่ำก็มีตำรวจตามเหมือนกัน แต่เป็นตำรวจราชทัณฑ์ ฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องต้องสังวรณ์เอาไว้ว่าต้องเจออย่างที่ผมเจอ
O อยากจะพูดอะไรถึงมวลมหาประชาชนหรือไม่?
อยากจะฝากถึงมวลมหาประชาชน อย่าไปเสียใจ เพราะตอนเราตัดสินใจที่จะสู้ด้วยวิธีนี้ ก็รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไร ทำใจเอาไว้แล้ว ระหว่างทางการต่อสู้ก็มีคนตาย มีคนบาดเจ็บ มีคนที่ต้องพิการไปจำนวนมาก ชุมนุมอยู่ก็มีเอ็ม 16 กราดยิง มีเอ็ม 79 ลง แต่เราก็ตัดสินใจทำเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า สู้เพื่อความถูกต้อง
O สิ่งที่ต่อสู้มา ส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดรัฐบาลชุดนี้ มองการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร?
การเมืองยังไม่ดีเท่าไหร่ แม้รัฐธรรมนูญจะดี ผมอ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 เห็นมีเรื่องการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน มีเรื่องการป้องกันการทุจริต แม้จะช้าแต่ก็มีการขับเคลื่อน อย่างการปฏิรูปตำรวจ ร่างกฎหมายก็เพิ่งเข้าสภา แต่เรายังไม่มีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อให้การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของ ส.ส.เท่านั้น
ในความรู้สึกผม ผมเพ่งเล็ง กกต.มากเป็นพิเศษ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย ซึ่ง กกต.ยังทำไม่ได้ ยังไม่สามารถป้องกันคนไม่ดีมาทำการเมืองได้
สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. การเมือง ตามที่ได้พูดไปแล้ว และ 2. การดูแลเศรษฐกิจ ดูแลครอบครัวของประชาชนที่ยากลำบาก จุดนี้คือความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงของสังคมไทย
O รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอบโจทย์พวกนี้บ้างหรือไม่?
รัฐบาลก็ตอบโจทย์ได้บ้างไม่ได้บ้าง ผมเคยร่วมงานกับคุณประยุทธ์ สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าท่านเป็นคนจริงใจต่อแผ่นดิน ไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง แต่ท่านอาจจะยังไม่เข้าใจการเมืองลึกซึ้ง แต่วันนี้คุณประยุทธ์พัฒนาขึ้นเยอะ รับฟังบุคคลต่างๆ มากขึ้น แต่ต้องไปพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
บางอย่างที่รัฐบาลทำ ผมก็ชอบนะ เช่น โครงการ EEC เพราะในยุคป๋าเปรม ก็มีอีสเทิร์นซีบอร์ด ถ้าวันนั้นไม่มีอีสเทิร์นซีบอร์ด วันนี้เราคงยังต้องใช้คลองเตยเป็นท่าเรือหลักของประเทศ บางคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลทำเพื่อเอื้อคนรวย แต่ผมคิดว่าถ้าหัวขบวนไปไม่ได้ แล้วจะลากคนในขบวนหรือท้ายขบวนที่มีคนยากคนจนอยู่ด้วยไปได้อย่างไร
อุปสรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ในตอนนี้ คือพรรคการเมืองและนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาล ยังเป็นปัญหา เป็นตัวถ่วงรั้ง และเป็นภาระทำให้รัฐบาลเดินไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
O หลังจากคดี กปปส. ภายในรัฐบาลจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโควต้ารัฐมนตรี?
ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย และตำแหน่งรัฐมนตรีก็ไม่ใช่โควต้า กปปส. อย่างคุณถาวร เสนเนียม ก็เป็นรัฐมนตรีในโควต้าประชาธิปัตย์ คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็เป็นรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ สองคนนี้ออกจากจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่โควต้า กปปส. ไม่ใช่โควต้าของผม
O บางคนมองว่า กปปส.ถูกหลอก คุณสุเทพมองอย่างไร?
ไม่มีใครหลอกใคร กปปส.มาชุมนุมเพราะประเทศไม่มีทางเลือก การรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่ใช่ข้อเรียกร้องของ กปปส. เราไม่ได้ชอบที่มายึดอำนาจ เพราะเราเองก็ถูกคุมขัง ถูกคุมตัว
O มองอนาคตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไร?
ตอนนี้ผมยังไม่เห็นใครโดดเด่นเท่า พลเอกประยุทธ์ จริงๆ ก็ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ แต่อนาคตไม่แน่ และผมก็ไม่เคยร้องขอให้ช่วยอะไร
O มีหลายฝ่ายเชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน และจะทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา จนถึงขั้นล้มรัฐบาล?
ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ แต่ต้องไม่ใช่แก้เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นแล้วกระทบกับสถาบันและสถานะของพระมหากษัตริย์จะทำอย่างไร ที่รับประกันกันว่าจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไม่เพียงพอ เป็นแค่คำพูดที่ใครก็พูดได้ เพราะคนที่รู้เรื่องจริง จะทราบว่ายังมีรัฐธรรมนูญอีก 20-30 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและสถานะของสถาบัน
เช่น พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ถ้าไปยกเลิกจะทำอย่างไร หรือเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ
ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้จะมาโทษคนที่เป็นห่วงกังวลไม่ได้ เพราะผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็แสดงตัวและมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดบทบาทของสถาบันลง และบางส่วนก็ไม่เอาสถาบันเลย
ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นความมั่นคงของประเทศ ถ้าไม่มีสถาบันจะไม่มีศูนย์รวมจิตใจ และประเทศไทยจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่เป็น 4-5 ประเทศ และถูกต่างชาติครอบงำ
รูปแบบการปกครองของเรา เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ เป็นการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประธานาธิบดี ผมคิดว่าคนไทยไม่ควรให้การสนับสนุนให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากรัฐสภายอมโหวตผ่านวาระ 3 ก็น่าจะไม่ผ่านประชามติ